บทที่ 24 พี่น้องร่วมสาบานและศาสตร์ไทฟูโดในภาพยนตร์องค์บาก 2-3

บทที่ 24 พี่น้องร่วมสาบานและศาสตร์ไทฟูโดในภาพยนตร์องค์บาก 2-3
taifudo book24 (Web V)

นับตั้งแต่ พ.ศ.2541 จนถึงปี พ.ศ.2547 ผมสอน “ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด ตามโรงเรียนและสถาบันต่างๆ ถึง 9 แห่ง ในแต่ละปีผมก็หมุนเวียนขอใช้สถานที่ห้องฝึกซ้อมของสถานที่ที่ผมเปิดสอน หรือโรงยิมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือโรงแรม เพื่อจัดงานไหว้ครูขึ้นตลอดเรื่อยมาติดต่อกันทุกปี ระหว่างนั้นผมยื่นขอหลักสูตรไทฟูโด (Taifudo) และขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างถูกต้อง

ผมแต่งงานมีครอบครัวในปี พ.ศ.2543 และต้นปี พ.ศ.2546 แม่ของผมท่านได้สนับสนุนสถานที่และงบประมาณให้ผมได้สร้างโรงเรียนสอนศาสตร์ด้านการต่อสู้ป้องกันตัวเป็นของตัวเองขึ้น ใช้เวลาสร้างเสร็จตอนกลางปี พ.ศ.2547

หัวข้อ

ต้นปี พ.ศ.2547 ผมจัดงานไหว้ครูที่โรงแรมซากุระเพราะโรงเรียนยังตกแต่งภายในไม่เรียบร้อยการสร้างโรงเรียนในครั้งนี้นอกจากจะมีธงชาติไทย และติดกรอบรูปพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์แล้วนั้น ผมจะติดรูปครูบาอาจารย์ไว้เพื่อแสดงความเคารพ และระลึกถึงทุกท่านที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ผมเหมือนในทุกๆ ที่ ที่ผมมีห้องฝึกสอนด้วย และที่สำคัญผมตั้งใจว่าจะอัญเชิญพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช “พระองค์ดำ” ทรงประกาศอิสรภาพมาประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ที่วางไว้ในห้องฝีกซ้อมเพิ่มด้วย เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ผมมักฝันเห็นการรบอยู่หลายครั้ง ผมมีเรื่องราวในอดีตเป็นเช่นไรกันแน่นะหรือผมจะมีสัญญาเก่าเกี่ยวข้องกับการรบ ทำไมมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับผมเรื่อยมา

หากการที่ผมได้ศึกษาการต่อสู้ป้องกันตัวทั้งอาวุธและมือเปล่า และได้ใช้ชีวิตบนเส้นทางนี้เพราะมีสัญญาเก่าจากอดีตชาติ ผมขออธิษฐานจิตด้วยความเคารพยกย่องพระองค์ดำผู้ทรงเป็นกษัตริย์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ และกล้าหาญ ให้พระองค์เป็นองค์ครูใหญ่ผู้เชี่ยวชาญในด้านการต่อสู้ ทรงอำนวยอวยชัยปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมการใดๆ ทั้งปวง ให้ผมและเหล่าศิษย์ทั้งหลายพัฒนาตนแลฝีมือยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ

STA41169

โรงยิมไทฟูโดที่หาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่ผมขอจัดตั้งเป็นโรงเรียนสอนศาสตร์ด้านการต่อสู้ป้องกันตัว รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการซึ่งในประเทศไทยไม่มีโรงเรียนประเภทนี้ที่เคยได้รับการจัดตั้งมาก่อน ผมใช้เวลาในการขอตั้งแต่กลับมาอยู่หาดใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2542

ผมใช้เวลาในการเตรียมหลักสูตร และเอกสารเพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนเป็นเวลาถึง 6 ปี ก่อนจะได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งเป็นโรงเรียน หลังจากพิจารณาหลักสูตรที่ยื่นไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่สามท่านจากกระทรวงศึกษามาตรวจสถานที่ เจ้าหน้าที่แยกกันเดินดูทั่วทั้งอาคาร 3 ชั้น ทั้งชั้นล่าง และชั้นบน เมื่อเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งเข้าไปดูในห้องฝึกซ้อมที่มีโต๊ะหมู่บูชาพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เจ้าหน้าที่ท่านนั้นนั่งลงกราบถวายบังคมแล้วหันมาบอกผมว่าดีมากเลย และเปลี่ยนท่าทีจากเข้มขรึมเป็นสนทนาพาที และฝากฝังให้สอนศาสตร์การต่อสู้ป้องกันตัวให้เต็มความสามารถ และเน้นย้ำผู้เรียนในเรื่องการมีคุณธรรมให้ควบคู่กันไปด้วย อาทิตย์ถัดมาใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนก็อนุมัติ ผมคิดเองในใจว่าได้บารมีจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราช “พระองค์ดำ” โดยแน่แท้ โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ ตั้งอยู่ที่ ถ.ปุณณกัณฑ์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ.2548

ไทฟูโด (Taifudo) มีชื่อเรียกเป็นทางการในชื่อว่า “ไทยหัตถยุทธ” และ Taifudo Academy ก็คือโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2548 และได้จัดงานไหว้ครูที่โรงเรียนครั้งแรกในปี พ.ศ.2548 โดยถือโอกาสในการเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการพร้อมกันด้วยเลย มีครูบาอาจารย์ ศิษย์พี่น้อง และลูกศิษย์มาร่วมงานอย่างคับคั่ง ผมปลื้มใจและซาบซึ้งอย่างมาก

ช่วงเวลาสายๆ ของวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2549 ขณะที่ผมและภรรยาอยู่ที่โรงเรียนกันแค่สองคน ผมสังเกตเห็นคนมายืนอยู่หน้าโรงเรียน ผมมองดูก็เห็นว่าเขาสวมชุดฤาษี จึงเดินออกไปสอบถามว่ามีธุระมาหาใครแถวนี้หรือเปล่า คนที่สวมชุดฤาษีมองหน้าผมแล้วพูดขึ้นว่า “ที่นี่มีองค์ดำใช่มั้ย” ผมก็ตอบ “มีครับ” คนที่สวมชุดฤาษี บอกว่า “พาพ่อไปหาหน่อยได้มั้ย” แม้จะมีความสงสัยแต่ผมก็ไม่ถามอะไรอีกพาขึ้นไปยังห้องฝึกซ้อมชั้น 2 ที่มีโต๊ะหมู่ที่มีพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช “พระองค์ดำ”

จากนั้นคนที่สวมชุดฤาษีจึงบอกผมว่าท่านคือหลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำ ท่านมากับลูกศิษย์สามคน มีคนเชิญท่านมาทำพิธีที่บ้านซึ่งถัดจากโรงเรียนผมไปสองหลัง ก่อนที่จะเริ่มทำพิธี ท่านสัมผัสถึงว่ามีพระองค์ดำอยู่ใกล้ๆ แถวนี้จึงเดินออกมาคนเดียวเพื่อดูว่าเป็นสถานที่ใด แล้วครูฤาษีก็ถามว่าที่นี่มีจัดงานไหว้ครูเมื่อไหร่ผมตอบว่ากำหนดไว้ปีนี้จะจัดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้แล้วครับ ครูฤาษีได้ฟังก็ตอบว่า เดือนหน้าใช่มั้ย พ่อจะมางานนะ เมื่อใกล้ถึงวันงานให้ติดต่อไปหาด้วย จากนั้นครูฤาษีก็บอกผมว่าต่อไปที่แห่งนี้จะเป็นที่พักทัพ จะมีเหล่านักรบแวะเวียนมาหากันไม่ขาดสาย เหล่านักรบที่เป็นสัมพเวสีจะได้ไม่ต้องเร่ร่อน เพราะมีที่พักเพื่อรอไปเกิด พร้อมหันไปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วบอกว่าให้หาเจ้าสิน (พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) มาด้วย ผมจึงรีบขอให้ครูพราหมณ์อมรหาพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินเพื่ออัญเชิญมาประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ที่วางไว้ในห้องฝึกซ้อมเพิ่มด้วยให้ทันงานไหว้ครูที่จะมาถึงนี้ตามที่หลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำได้บอกไว้

พิธีไหว้ครูในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 มีการทำพิธี และกิจกรรมต่างๆโดยส่วนใหญ่ที่วางแผนไว้ก็เป็นไปตามปกติเพราะจัดมานับสิบครั้งแล้ว ในช่วงเช้าก่อนงานพิธีใกล้จะเริ่มขึ้น หลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำ และเหล่าศิษย์ก็ได้มาร่วมงานตามที่ได้บอกไว้ ทำให้พิธีครั้งนี้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นที่ได้พบครูฤาษีตามที่ผมบอกทุกคนไว้ว่าเคยมีหลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำซึ่งไม่ได้รู้จักท่านมาก่อนได้มาหาผมที่นี่ และบอกว่าจะมาร่วมงานในปีนี้ด้วย ท่านทำพิธีในส่วนของท่านเสร็จก็มอบของมงคลให้แก่ทุกคนที่มาร่วมงานและมอบกรอบรูป และรูปถ่ายท่านไว้ให้ผมเก็บไว้อีกด้วย และเป็นที่ตื่นตาตื่นใจเมื่อหลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำกรุณาจารหลังให้ผมด้วยดาบ (ดาบเก่าที่ใช้งานจริง) ที่ผมมีอยู่ในห้องฝึกซ้อมที่ทำพิธี

เมื่อท่านจารเสร็จ ท่านใช้ปลายดาบจี้ลงที่หลังของผม แรงจี้หนักมือจนผมอกแอ่น เก้าอี้มีล้อที่ครูฤาษีนั่งเลื่อนถอยตามแรงจี้ของท่าน ทำให้ศิษย์ของครูฤาษีช่วยกันออกแรงผลักเก้าอี้ให้เลื่อนกลับเข้าตำแหน่งเดิม ทำให้ปลายดาบจี้แทงหลังผมซ้ำที่เดิมอีกครั้ง ท่านแทงเหมือนจะให้เข้าใจว่าเมื่อจารแล้วของคมไม่เข้าเนื้อ เมื่อสังเกตสีหน้า และฟังจากเสียงซุบซิบปนเสียงร้องเหมือนหวาดเสียวจากผู้ร่วมงานตอนนั้นที่เห็นการจี้ด้วยปลายดาบลงบนเนื้อผมแบบนี้ ให้นึกว่าเลือดคงไหลย้อยแล้วเป็นแน่ วันนั้นหลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำ และเหล่าศิษย์ของท่านเดินทางกลับทันทีหลังจากทานมื้อกลางวันเสร็จ ส่วนหลังผมที่โดนดาบแทงตอนโดนจารหลังนั้นไม่มีบาดแผล และเลือดออกแต่อย่างใด โล่งอกครับ นับจากวันนั้นผมไม่เคยได้พบหลวงพ่อปู่พระฤาษีอินตาโมคราชดำอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

ปลายปี พ.ศ.2549 ผมขึ้นไปทำธุระที่กรุงเทพฯ และแวะไปเยี่ยมครูอำนาจ (พลตรีอำนาจ พุกศรีสุข) ที่บ้านพักของท่านครูอำนาจเป็นผู้ก่อตั้งมวยไทยนวรัช (มวยนวรัช คือมวยไทยที่สังเคราะห์จากมวยโคราช โดยใช้เคล็ดจากมวยไทยกรุงศรีอยุธยา มวยไทยโบราณสายต่างๆ โดยมีแกนหลักเป็นมวยโคราช) ผมพบคุณจาพนมที่บ้านครูอำนาจเป็นครั้งแรก คุณจา พนม (โทนี่ จา Tony Jaa) ดารานำแสดงภาพยนตร์องค์บากที่โด่งดังทั่วโลก

“องค์บาก” เป็นภาพยนตร์แอคชั่นสัญชาติไทยที่สร้างปรากฎการณ์ไปทั่วโลก จากการนำศิลปะการต่อสู้ “มวยไทย” มานำเสนอ องค์บากนับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในชีวิตของจาพนมที่ประสบความสำเร็จในวงการภาพยนตร์แอคชั่นระดับโลก ซึ่งต่อมาภาพยนตร์ ต้มยำกุ้ง ก็ได้ประสบความสำเร็จในระดับโลก และได้รับการตอบรับจากทั่วโลกเช่นเดียวกับองค์บาก ทำให้จาพนมได้รับรางวัลจากภาพยนตร์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้มากมาย

ความจริงความสนใจของชาวโลกที่มีต่อมวยไทยนั้นก็มีมานาน แต่มันไม่เคยไปไกลกว่าการตั้งท่าต่อยหรือใส่กางเกงที่มีเขียนคำว่ามวยไทย ถ้าไม่อย่างนั้นมันก็จะออกมาเป็นรูปแบบของพิธีการต่างๆ ของมวยไทย การไหว้ครู ท่าเตะต่อยที่เป็นศิลปะมากกว่าการต่อสู้จริงๆ เล็กน้อย ทำให้ดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัว และเฉพาะทาง แต่การปรากฏตัวของจา พนม นั้นได้ละลายความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่ามวยไทยลงและทำให้ลงมาติดดินมากขึ้นผ่านฉากแอคชั่นการเตะต่อยหลบหลีกตามตรอกซอยตึกแถวของชาวบ้านทั่วไป พร้อมกันนี้ยังอัดฉีดความแฟนตาซีให้กับกระบวนท่าต่างๆ ด้วยการเอามวยไทยไปบวกกับความพิสดารของฉากแอคชั่นต่างๆ เช่น กระโดดเตะลอยฟ้าหรืออะไรก็ว่าไป และการที่ยิ่งสมทบด้วยคำว่าแสดงจริง ไม่ใช้นักแสดงแทน และไม่ใช้เทคนิคพิเศษในการแสดงคิวต่อสู้ ก็ยิ่งทำให้ใครที่มาเห็นย่อมตื่นตะลึงและเข้าถึงได้โดยง่าย

IMG 2269 Website Taifudo Academy

องค์บากเล่าเรื่องง่ายๆ ของไอ้ขามที่มาตามหาเศียรพระที่หายไป แต่ต้องเผชิญกับแก๊งขายของเถื่อนยักษ์ใหญ่ ภาพของไอ้หนุ่มอีสานที่วิ่งไต่ไหล่บรรดาแก๊งอันธพาลอย่างคล่องแคล่ว กระโดดข้ามหัวพ่อค้าแม่ขายในตรอกซอกซอย ไต่กำแพงสูงได้ง่ายดาย ฉากที่จา พนมเล่นไถลตัวลอดใต้ท้องรถที่กำลังถอย ไหนจะขี่สามล้อซัดกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทุกฉากทุกซีนนั้นดุดันและมันสะใจ แถมยังสามารถโดดถีบยอดอกฝรั่งตัวใหญ่ด้วยลีลาแอคชั่นที่ไม่ปกติ ความไม่ปกติที่ว่านั้นคือการผสมลีลาหลายรูปแบบ นั่นคือศิลปะแนวสตั๊นท์ผาดโผนเข้ากับความรวดเร็วว่องไวสไตล์ Free Running บวกด้วยความรุนแรงดุดันตามสไตล์มวยไทย แถมปล่อยคำโฆษณาที่ว่า “เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน” สมทบด้วยนักแสดงอย่าง หมํ่า จ๊กมก ที่เล่นได้ไม่เยอะเกินจนกลายเป็นพี่หมํ่า ชิงร้อยชิงล้าน มาได้ถูกจังหวะกับหนังแนวแอคชั่นแถมคอมเมดี้แบบนี้

สำหรับคนไทยมัน คือการผนึกรวมกันระหว่างความตื่นตาตื่นใจทางภาพ (จา พนม) และอารมณ์ขันแบบบ้านๆ สนุกๆ (หมํ่า) ซึ่งส่วนผสมเข้าด้วยกันอย่างลงตัวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนบนโลกของภาพยนตร์ใบนี้ นอกจากนี้ ฉากแอคชั่นมากมายที่ปรากฏในหนังนั้นมีการ Replay ซํ้าให้เราดูกันหลายๆ รอบ จากมุมกล้องต่างๆ ราวกับเป็นภาพกีฬามันๆ เวลาดูนี่ได้ยินเสียงประโยค “ลองจับตาดูกันอีกครั้งชัดๆ นะครับท่านผู้ชม” คือโดยปกติแอคชั่นซีนในหนังทั่วๆ ไปเวลาพระเอกกระโดดข้ามรถไปแล้วก็จะผ่านไปเลย ไม่มีการ Replay ให้ดูอีกรอบ เพราะถ้า Replay ให้ดูอีกรอบเมื่อไร คนดูจะหลุดออกจากหนัง และมันจะกลายเป็นวิดีโอโชว์สตั๊นท์แมนมากกว่าภาพยนตร์ที่กำลังเล่าเรื่องอะไรบางอย่างอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะเถียงไม่ได้คือว่าผู้ชมแต่ละคนมีความแตกต่างกัน อย่างเช่น คนไทยอาจจะไม่ได้สนใจว่าการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์คืออะไรอย่างไร แต่พวกเขาแฮปปี้มากที่จะได้ดูฉากไถลลอดใต้ท้องรถอีก 3 รอบแบบจะๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากันนั่นคือเสียงตอบรับในประเทศไทย แต่หากจะพูดในแง่ต่างประเทศนั้น หนังเรื่องนี้ก็เหมือนถูกผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะเช่นกัน บรรยากาศแบบไทยๆ เป็นสินค้าอย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้ แต่ละซีนเหมือนถูกคิดมาแล้วว่าฝรั่งดูแล้วตะโกนว่า Exotic แน่นอน ทุ่งนาบ้านไร่ เมืองกรุงเทพฯ เศียรพระ รถตุ๊กตุ๊ก อาหารเผ็ดร้อน (อาวุธหนึ่งในการสู้กับผู้ร้าย คือ เครื่องพริกแกง ก็แปลกมาก) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มวยไทย ถึงขั้นมีฉากที่ฝรั่งนักสู้ข้างถนนคนหนึ่งเจอ จา พนม แล้วตะโกนใส่กล้องพร้อมกับชูนิ้วกลางพูดว่า “FUCK MUAY THAI” จากนั้นก็โดน จา พนม กระทืบตายใน 2 นาที จบเกม แต่ก่อนจาก จา พนม ก็ได้ทำท่าเคารพคู่ต่อสู้อย่างงดงามตามสไตล์มวยไทยอันศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นหนังก็ต่อด้วยฉากต่อสู้ด้วยมวยไทยขนาดยาวที่ปล่อยให้จาพนมเจอกับนักสู้จากประเทศต่างๆ จีน ไทย ญี่ปุ่น ฝรั่ง แล้วแบบว่าชนะหมดเลย โชคดีที่ท่าชกท่าต่อยของจา มันก็รุ่งโรจน์แบบไม่เกินคำโฆษณาจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสามารถขายให้ต่างประเทศมากมาย กลายเป็นหนังฮิตในวงกว้าง และคัพท์เฉพาะกลุ่มในเวลาเดียวกัน ไม่น่าแปลกที่ จา พนม ยีรัมย์ จะเปลี่ยนชื่อกลายเป็น Tony Jaa ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

STA40525

เมื่อภาพยนตร์เรื่ององค์บาก ต้มยำกุ้งฉายทั่วโลกชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทย มวยไทย ช้างไทย นับว่าเป็นการเปิดภาพการรับรู้ประเทศไทยไปได้อย่างกว้างขวาง มวยไทยกลายเป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติ องค์บากทำให้คนทั่วโลกรู้จักมวยไทยมากขึ้น มองในภาพ International มวยไทยดูดี เป็นที่ยอมรับ ดาราไทยหลายคนหันมาฝึกซ้อมมวยไทยเพราะเขาเห็นว่า มวยไทยเริ่มดัง ซ้อมมวยแล้วสนุก จากนั้นก็มีคนเรียนเยอะมาก เป็นเทรนด์ และส่งผลกระทบให้กับคนทั่วไปให้อยากเรียน อยากรู้มากขึ้น จา พนม ทำให้ศิลปะมวยไทยกลายเป็นเรื่องง่ายที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ และดูจะทำให้ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ทุกคนรู้จักจา พนม เหมือนที่รู้จักส้มตำ ต้มยำกุ้ง มวยไทย จากประเทศไทย

คุณจา พนม เคยฝึกมวยโคราชกับครูอำนาจ และนำไปสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์ต้มยำกุ้งในปี พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา นับได้ว่าจา พนม และผมต่างเป็นศิษย์ครูอำนาจ สายมวยโคราช คืนนั้นผมไปถึงบ้านครูอำนาจเวลาดึกพอสมควร ที่บ้านครูอำนาจ มีลูกศิษย์ครูอำนาจ มีคุณจาพนม และสตั๊นท์แมน รวมๆ กันก็หลายคน พวกเราต่างฟังครูอำนาจคุยกันอยู่ครู่ใหญ่ จึงได้ทราบว่าคุณจาพนมมาขอคำแนะนำ และไอเดียจากครูอำนาจ เพื่อนำไปใช้ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง องค์บากภาค 2 นั่นเอง “ถ้าอยากรู้อะไรเกี่ยวกับมวยจีน ถามชีวิน” ครูอำนาจบอกคุณจา พนม ครูอำนาจเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงโชว์กังฟูให้คุณจาพนม และทุกคนได้ชมในคืนนั้น ผมแสดงท่ารำไปพอสมควร แยกแยะให้ดูความแตกต่างของท่ามวยเหนือ และท่ามวยใต้ด้วยเผื่อต่อยอดไอเดียให้คุณจาพนมได้บ้าง ตามที่ครูอำนาจได้บอกว่า “ชีวินมีอะไรช่วยได้ ก็ช่วยดูๆ ให้น้องมันหน่อย” ซึ่งตอนนั้นเวลาก็ล่วงเลยไปราวตีหนึ่งแล้ว

“สวัสดีครับ พี่ต๊ะ (ชื่อเล่นผม) ใช่มั้ยครับ ผมจานะครับปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2549 คุณจาพนมโทรมาหาผมเพื่อคุยเรื่องที่กำลังจะสร้างภาพยนตร์องค์บาก 2 และขอความรู้เรื่องสมาธิ และกสิณ กับผมเพิ่มเติม”

ในวันที่ 3-4 พฤษภาคม พ.ศ.2550 ผมกำลังจะเดินทางไปวัดศรีวโนภาสสถิตย์พร ต.แกลง อ.เมือง จ.ระยอง ร่วมงานพิธีมหาพุทธาภิเษกเทวาภิเษกมหาเทพเทวราชโพธิสัตว์จอมจักรพรรดิบูรพาราชันย์ดำ องค์จตุคาม-รามเทพ รุ่นเทพบูรพา ทรัพย์เพิ่มพูน ผมจึงชักชวนให้คุณจาพนมมาพบผมที่วัด ผมบอกคุณจาพนมว่าสามารถขอคำแนะนำเพิ่มได้อีกเพราะมีพระเกจิอาจารย์สายเขาอ้อมาร่วมงานด้วยหลายรูปคุณจาพนมมาเจอผมที่วัดในวันงานเราพูดคุยกันในอุโบสถ

เสร็จจากงานพิธีคุณจาพนมก็ชักชวนให้ผมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ต่อเลยเพื่อให้ผมลองไปฝึกสอนการต่อสู้ให้กับทีมสตั๊นท์แมนที่เตรียมออกแบบคิวบู๊ในภาพยนตร์องค์บาก 2 คุณจาพนมถูกใจแนวการต่อสู้ผสมผสานหลากหลายแขนงที่ผมถ่ายทอดให้คุณจาพนมเล่าให้ผมฟังว่าก่อนจะเริ่มงานองค์บาก 2 ตัวเขาได้ไปนั่งสมาธิร่วมเดือน และอธิษฐานจิตขอให้มีคนมาช่วยสร้างสรรค์งานให้สำเร็จลุล่วง จนมาเจอผม และได้พูดคุยในอุโบสถจึงมั่นใจว่าผมจะเป็นคนมาช่วยเขา เราสาบานด้วยวาจาเป็นพี่น้องกันผมรับปากจะช่วยในส่วนที่ผมมีความสามารถ

หลังจากนั้นคุณจาพนมพาผู้บริหารบริษัทสหมงคลฟิล์ม และทีมงานมาเยี่ยมชมโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธของผมที่หาดใหญ่ การมาครั้งนี้คุณจาพนมขอนอนค้างที่ห้องพักในโรงเรียนผมแทนการไปนอนโรงแรมย่านในเมืองหาดใหญ่ ผมนึกถึงคำครูฤาษีอินตาโมคราชดำ ตอนที่ท่านมาที่โรงเรียนผมในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2549 ท่านบอกให้นำพระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาบูชาด้วย “ต่อไปที่แห่งนี้จะเป็นที่พักทัพ จะมีเหล่านักรบแวะเวียนมาหากันไม่ขาดสาย ส่วนเหล่านักรบที่เป็นสัมพเวสีจะได้ไม่ต้องเร่ร่อน เพราะมีที่พักเพื่อรอไปเกิด”

คุณจาพนม เคยให้สัมภาษณ์ เจาะลึก มุมมอง แนวคิด ตลอดจนตัวตน และจิตวิญญาณ ของจา พนม ยีรัมย์ จุดเริ่มต้นของไอเดียที่มาที่ไปกลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง องค์บากภาค 2 ไว้ว่า “หลังจากที่เราได้มีโอกาสนำเอามวยไทยศิลปะการต่อสู้ของไทยมานำเสนอในภาพยนตร์เรื่อง องค์บาก 1 และต้มยำกุ้ง โดยเป็นการนำเสนอมวยไทยในรูปแบบที่แตกต่างกันอย่าง องค์บาก 1 เราจะนำเสนอศิลปะแม่มวยไทยแบบโบราณ ส่วนในต้มยำกุ้งเราได้นำเสนอมวยไทยแบบคชสารที่เกี่ยวกับช้าง พอมาถึงองค์บาก 2 มันก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่ต้องคิด และต้องทำการบ้านกันหนักมาก ซึ่งอาจารย์พันนากับผมเองพยายาม จะทำอย่างไรดีให้หนังมีแนวทางที่แปลก และไม่ซ้ำกัน ก็เลยนึกไปถึงโจทย์ๆ หนึ่งที่ผมกับอาจารย์พันนาเคยคิด และเคยทำเป็นหนังมาเสนอกับเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ) กันไว้นั่นก็คือคนสารพัดพิษซึ่งมีคอนเซ็ปท์คือต้องการรวบรวมเอาศิลปะการต่อสู้หลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ของแต่ละประเทศทั้งการต่อสู้ด้วยมือเปล่า และการใช้อาวุธ มานำเสนอบนแผ่นฟิล์มโดยมีหัวใจสำคัญ คือจะต้องไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติว่าเป็นไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ นั่นเลยเป็นโจทย์เป็นการบ้านชิ้นสำคัญที่ผมได้รับมอบหมายจากอาจารย์พันนาให้ไปศึกษาข้อมูลต่างๆ และเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้ที่มีอยู่หลากหลายเพิ่มเติมทั้งในเรื่องของมวยไทยอย่าง มวยไทยโบราณ มวยไทยไชยา มวยไทยโคราช มวยไทยลพบุรีแล้วก็ศิลปะกังฟู ศิลปะนินจัตสึของญี่ปุ่น ไปขอคำแนะนำจาก ไทฟูโด (ซึ่งรวบรวมเอาศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ อย่าง ไอคิโด กังฟู ยูโด มวยไทย มาผสมผสานกัน) โดยมีครูบาอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะการต่อสู้ในแขนงต่างๆ หลายๆ ท่านที่ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสเรียนรู้ ได้ให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำ ถ่ายทอด แนวคิด ปรัชญา ตลอดจนแก่นแท้ของจิตวิญญาณในศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ จนเกิดเป็นแนวทางสำคัญที่ผมตัดสินใจว่าจะนำเอาสิ่งที่ได้รับจากครูบาอาจารย์เหล่านี้หยิบขึ้นมาถ่ายทอดในภาพยนตร์เรื่ององค์บาก 2”

ในหนังเรื่อง องค์บาก 2 จะได้เห็นศิลปะการต่อสู้ทั้งมือเปล่า และอาวุธชนิดที่ว่าครบเครื่อง มันเป็นสิ่งที่ท้าทาย และเป็นสิ่งที่เราอยากนำเสนอด้วยครับ เพราะเราชอบศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าผมจับกระบี่จีน ถ้าจับกระบอง 3 ท่อน ถ้าผมจับดาบซามูไร ถ้าผมจับดาบไทย โดยรวบรวม และผสมผสานกันมันจะเกิดอะไรขึ้น มันก็จะเกิดความใหม่ แล้วถ้าเปลี่ยนมวยไทยเป็นกังฟู เปลี่ยนกังฟูเป็นมวยไทย เพื่อต้องการนำเสนอให้เห็นว่าคนๆเดียวสามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง สามารถทำและนำเสนอได้หลายอย่าง มันไม่ใช่แค่โยนเข่าโยนหมัดใส่กัน ตอนนี้มีการดวลอาวุธกันมีการปรับเปลี่ยนกันในเรื่องของอาวุธซึ่งสตั้นท์แมนทุกคนก็มีประสบการณ์ทางด้านนี้ ต้องมีการฝึกฝน และการเตรียมงานที่ดีครับ ต้องมาซ้อมกัน มีการซ้อมจังหวะ ซ้อมคิวเพื่อให้มันลงตัวที่สุดในการที่จะปรับเปลี่ยนท่าทาง พอถึงมวยไทยก็ต้องเป็นมวยไทย พอถึงกังฟูก็ต้องเป็นกังฟู พอถึงซามูไรก็ต้องเป็นซามูไร เพื่อให้ออกมาสารพัดพิษจริงๆ ตอนถ่ายทำกล้องก็ต้องตั้ง และถ่ายให้เห็นกันชัดๆไปเลย จะไม่มีหลบมุมกล้อง เพราะเราต้องเน้นอาวุธให้ชัดๆ ว่าเราเล่นอะไร ให้เห็นเลย กล้องตั้งเราเปลี่ยนอาวุธเป็นซามูไรเปลี่ยนอาวุธเป็นกระบี่จีน เราเปลี่ยนอาวุธเป็นดาบไทยเพราะอยากให้หนังเรื่องนี้ออกมาสมจริง เหมือนที่เรามีคอนเซ็ปท์ตั้งแต่แรกแล้วคือไม่ใช้สตั้นท์ ไม่ใช้สลิง แล้วตัวละครตัวนี้มันต้องเก่งศิลปะการต่อสู้ทุกอย่าง ต้องเล่นเองผมก็ต้องเข้าไปปะทะเข้าไปเล่นให้สมจริงสมจังซึ่งมันก็มีเหตุการณ์อยู่อย่างผมเองก็มีแตกทางคิ้วซ้ายปะทะดาบกันเพราะหนังเรื่องนี้จะเผยแพร่ไปถึงไม่ว่าจะเป็นเชิงมวยและเชิงอาวุธ แล้วที่เน้นมากๆ ก็คือเรื่องของอาวุธ ก็จะมีอาวุธเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างองค์บาก 1 และต้มยำกุ้ง อาวุธจะน้อย แต่ว่าองค์บาค 2 จะนำเรื่องของซามูไร ดาบไทย กระบี่จีน อาวุธหลายๆ อย่าง ของแต่ละประเทศทั้งไทยจีนญี่ปุ่นสารพัด ฯลฯ เข้ามาช่วยสร้างสีสันให้มันเพิ่มมากขึ้น “พันนา ฤทธิไกร” ชื่อจริงคือ นายกฤติยา ลาดพันนา เป็นชาว จ.ขอนแก่น จบการศึกษาวิทยาลัยพลศึกษามหาสารคาม ก่อนเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะสตั๊นท์แมน ก่อนก้าวหน้าเป็นลำดับในฐานะผู้ฝึกสอนคิวบู๊ และผู้กำกับคิวบู๊ในภาพยนตร์บู๊หลายเรื่อง “พันนา ฤทธิไกร” โดดเด่นขึ้นมาในฐานะผู้กำกับ นักแสดง สตั๊นท์แมนในภาพยนตร์แอคชั่นมานับไม่ถ้วน สร้างชื่อเสียงด้านการออกแบบฉากบู๊ระห่ำจอเอาไว้ในภาพยนตร์มากมาย เช่น ต้มยำกุ้ง, องค์บาก, เกิดมาลุย, บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม ฯลฯ โดยเฉพาะกับบทบาทการเป็นผู้กำกับฉากแอคชั่นของ จา พนม ที่ทำให้ดังกระหึ่มไปทั่วโลกภาพยนตร์ จากเรื่อง ต้มยำกุ้ง, องค์บาก นอกจากจา พนม แล้ว พันนา ฤทธิไกร ยังได้มีส่วนร่วมสร้างนักบู๊ฝีมือเด็ดขาดอีกมากมาย เช่น ชูพงษ์ ช่างปรุง (เดี่ยว), จีจ้า ญาณิน ฯลฯ

ผมเจออาจารย์พันนาครั้งแรก ตอนที่อาจารย์พันนามาที่บริษัทไอยราฟิล์มผมนั่งขัดใบดาบเก่าอยู่บริเวณด้านหน้าตึก ผมยกมือไหว้ และทักไปว่า “สวัสดีครับพี่พันนา” อาจารย์พันนายิ้มเป็นการทักทายกลับเพราะไม่คุ้นหน้าค่าตาผมมาก่อน อาจารย์พันนาเดินเข้าไปในบริษัทเพื่อพบ จา พนม และทีมสตั๊นท์แมนที่นัดไว้

ในขณะนั้น จา พนม เป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไอยราฟิล์ม บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ และได้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แนวแอคชั่นเองจาพนมแจ้งให้อาจารย์พันนาทราบว่า ในภาพยนตร์องค์บาก 2 จา พนม ได้ให้ผมมาช่วยถ่ายทอดศิลปะการป้องการตัวแนวผสมผสานไทย จีน ญี่ปุ่น ที่เรียกว่า “ไทฟูโด” มีการฝึกอาวุธดาบซามูไร กระบี่จีน และดาบไทยให้กับจา พนม เพิ่มด้วย เมื่ออาจารย์พันนาเดินออกมาจากบริษัทจึงมาคุยกับผมอย่างมีความเมตตาว่าดีใจที่ได้อาจารย์ต๊ะมาช่วย อาจารย์พันนาการันตีว่ายอมรับและเชื่อมั่นในตัวผม จากนั้นอาจารย์พันนาบอกให้สตั๊นท์แมนไว้วางใจเพื่อให้ผมได้ฝึกสอนพวกเขาได้อย่างสะดวกด้วยเช่นกัน

บ่อยครั้งที่อาจารย์พันนาได้มานั่งดูคิวบู๊ที่ผมทำ อาจารย์พันนาชอบใจในสไตล์มวยไทยผสมกังฟู ที่ผมนำมามิกซ์ได้อย่างต่อเนื่องลงตัว อาจารย์พันนาจะตบมือและบอกว่ามันส์มากอาจารย์ต๊ะ

ผมมาทำงานให้คุณจา พนม หลายเดือนแล้ว ผมสนิทสนมกับจา พนม มากเป็นพิเศษ เพราะจา พนม สามารถคุยกับผมได้ทุกเรื่อง อย่างที่บอกว่าเราเป็นพี่น้องสายมวยโคราชด้วยกัน และสาบานเป็นพี่น้องกันด้วยวาจามาก่อนแล้ว ช่วงทำงานเราแทบจะอยู่ด้วยกันตลอดทั้งวัน แถมยังนอนร่วมห้องกันด้วย จนมีคำครหาว่าผมอาจเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์จากการได้ใกล้ชิดคุณจา พนม ผมรู้สึกไม่สบายใจ เย็นวันหนึ่งผมมีโอกาสได้นั่งทานอาหารร่วมกับอาจารย์พันนา และคุณจา พนม ผมบอกกับอาจารย์พันนา และคุณจาพนมว่าที่ผมมาร่วมงานด้วยในครั้งนี้ผมได้รับค่าตอบแทนตามที่ผมเสนอ ผมเองรู้สึกพอใจแล้ว เรื่องมากอบโกยผลประโยชน์นอกเหนือจากงานผมไม่เคยคิด ผมอยากมาช่วยคุณจา พนม ตามที่ครูอำนาจได้ฝากไว้ ว่ามีอะไรช่วยน้องได้ ก็ให้ช่วย และผมตั้งใจจะช่วยให้เต็มที่ อาจารย์พันนาและคุณ จา พนม ได้ฟังจึงร่วมเจาะเลือดลงในเหล้า และเราทั้ง 3 คนก็ดื่มเหล้าแก้วนั้นด้วยกันเพื่อร่วมสาบานเป็นพี่น้องกัน

“พิธีกรีดร่วมเลือดสาบาน” ว่าจะเป็นพี่น้องที่ดูแลกัน และกันตลอด “กรีดเลือดร่วมสาบาน” พิธีเชื่อมสายใยต่างสายเลือด

การกรีดเลือดร่วมสาบาน มีความสำคัญต่อความรู้สึก พิธีนี้เปรียบได้กับการรวมสายเลือดของคนต่างพ่อแม่ให้มาร่วมเป็นสายเลือดเดียวกัน หรือ การสัญญาว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน เนื่องจากในอดีตเชื่อว่าหากคนต่างพ่อต่างแม่ แต่มีความต้องการเป็นพี่น้องร่วมกัน จำเป็นต้องให้เลือดเป็นตัวเชื่อมโยง เข้ามาอยู่ในร่างกายของกัน และกันก่อน ดังนั้น จึงมีการกรีด “เลือด” ของตัวเองออกมา แล้วนำมาผสมเข้ากับเลือดของอีกฝ่าย เพื่อดื่มกินให้เลือดของกันได้ไหลเวียนในร่างกาย เหมือนเช่นเลือดของพี่น้องแท้ๆ ที่มาจากพ่อแม่เดียวกัน

ธรรมเนียมการกรีดเลือดสาบานนั้นแท้จริงแล้วเป็นความเชื่อของคนในยุคโบราณที่ว่า คนที่เป็นพี่น้องกันได้จะต้องมีสายเลือดเดียวกัน ถ้ามาจากต่างตระกูลก็จำเป็นต้องดื่มหรือกลืนเลือดของคนอื่นที่ไม่อยู่ในสายเลือดเดียวกัน จึงเป็นวิธีสร้างความเป็นญาติของคนต่างสายเลือดได้

พิธีสาบานแบบจีน สมัยสามก๊ก เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ใช้เลือดม้าขาว กระบือดำ พิธีของอั้งยี่สมัยต่อมา ตัดคอไก่ เอาเลือดผสมน้ำดื่ม สื่อความหมายว่า ถ้าไม่สัตย์ซื่อต่อกัน ก็ให้ตายเยี่ยงไก่ที่คอขาด ส่วนพิธีสาบานในวงการนักเลงไทย จะกรีดเลือดผสมเหล้าแล้วดื่มคุณจาพนม ให้ผมเป็นที่ปรึกษาในงานเกี่ยวกับการก่อตั้งโรงเรียนสอนสตั้นท์แมน และเป็นผู้ฝึกสอนการต่อสู้ให้กับตัวเขา และทีมสตั้นท์แมน ให้ผมร่วมออกแบบคิวบู๊ในภาพยนตร์องค์บาก 2 และ 3 และร่วมแสดงเป็นอาจารย์สอนมวยกังฟูให้กับเทียน พระเอกของเรื่องที่แสดงโดยคุณจาพนมในปี พ.ศ.2551 ภาพยนตร์องค์บาก 2 ประสบความสำเร็จอย่างสูงในตลาดต่างประเทศ และรับหน้าที่บอดี้การ์ดส่วนตัวคุณจาพนมเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ

ขอขอบคุณครูอำนาจผู้ที่แนะนำผลักดันให้ผมได้ใช้ความรู้ความสามารถ ขอขอบคุณอาจารย์พันนาที่มอบความเชื่อมั่นและความไว้วางใจ ขอบคุณผู้บริหารบริษัทสหมงคลฟิล์มที่ให้โอกาส ขอบคุณทีมงานกองถ่าย และสตั๊นแมนท์ที่ร่วมสร้างสรรค์ผลงานด้วยกัน และขอบคุณ จา พนม ที่รักและศรัทธากันเสมอมา

ผมเริ่มฝึกฝนศาสตร์การต่อสู้มาหลากหลายวิชาหลายสำนักจากอาจารย์หลายๆท่าน ผมฝึกฝนมาตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ผมสัมผัสได้ว่าทักษะทุกวิชามีจุดดีในตัวเองยิ่งได้ฝึกหลายๆมวยก็ได้เข้าใจด้วยตัวเองเลยว่าทักษะจากวิชาเหล่านั้นสามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี

ผมเอาตัวเองเป็นห้องสมุดรวบรวม ฝึกฝน ค้นคว้าศาสตร์การต่อสู้ป้องกันตัวต่างๆ พัฒนาจัดระบบการฝึกฝนเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า “ศิลปะป้องกันตัว ไทฟูโด” ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ฝึกการป้องตัวได้ง่าย และปลอดภัยขึ้นด้วยหลักผ่อนแรง ย้อนแรงและตามแรง จึงเหมาะกับทุกเพศทุกวัยและผู้ที่สนใจการออกกำลังกายด้วยการฝึกการป้องกันตัว

ผมได้ผ่านประสบการณ์การฝึกฝนและเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลายแขนงวิชามาตลอดยาวนานกว่า 40 ปี ราวกับว่าที่ผ่านมาผมได้ฝึกฝนในแต่ละวิชาการต่อสู้ให้ความรู้สึกเหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ได้มาแล้วนำมาต่อกันได้อย่างลงตัวเมื่อผ่านการฝึกฝนมามากจึงหล่อหลอมทักษะศิลปะการต่อสู้ในหลากหลายวิชาที่มีมาแต่ดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว นำเคล็ดวิชาที่ศิลปะการต่อสู้แต่ละศาสตร์อันมีจุดเด่นจุดด้อยไม่เหมือนกันเหมาะที่จะนำไปใช้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เพราะในสถานการณ์จริง ไม่มีใครสามารถนำทุกศาสตร์มาใช้ในเวลาเดียวกันได้ ผมเริ่มคิดค้นและเรียบเรียงเอาจุดเด่นของศิลปะการป้องกันตัวแต่ละแขนงมาร้อยเรียงและจัดลำดับท่าขึ้นใหม่ จนเป็นหลักการง่ายๆ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปใช้ป้องกันตัวได้จริง รวมถึงนำไปพัฒนาทักษะการต่อสู้ของตนเองในแขนงต่างๆ หรือเพื่อนำไปประกอบอาชีพ เช่น อาชีพสอนศิลปะป้องกันตัว, อาชีพงานอารักขา (Bodyguard) และนักแสดงบทบู๊, สตั๊นท์แมน (ในภาพยนตร์แอคชั่น) เป็นต้นผู้ที่หลงใหลในวิทยายุทธ โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ (Taifudo Academy) มีอีกหลากหลายวิชามวยให้ได้เลือกฝึกฝนตามความชอบอีกด้วย

สารพัดวิชาการต่อสู้บนโลกใบนี้ บางวิชามีมานานกว่าร้อยปี ขณะที่บางวิชาก็เพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงศตวรรษ

“การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีเก่ามันถึงมีใหม่ แต่สิ่งที่ดีขึ้นในศาสตร์ใหม่ก็คือ แนวทางที่เราเอามาจากครูได้ถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นำไปสู่การเรียนการสอนที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ไทฟูโดเองนับเป็นศาสตร์การต่อสู้ของไทยชนิดหนึ่งที่อยู่บนแนวทางของมวยไทย ผสมกับศิลปะการต่อสู้หลายๆ อย่างโดยมุ่งเน้นที่การป้องกันตัว”

ในห้องฝึกซ้อมนอกจากมีรูปปรมาจารย์จากวิชาต่างๆที่ผมได้เรียนมาแล้วนั้น สิ่งที่ผมภาคภูมิใจมากคือมีธงชาติไทย พระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี โต๊ะหมู่พระบรมรูปหล่อบูรพกษัตริย์แห่งสยาม มหากษัตริย์ชาตินักรบผู้กอบกู้เอกราชแผ่นดิน ให้ผู้ฝึกไม่ว่าสัญชาติใดที่ต้องการฝึกไทฟูโดต้องทำความเคารพก่อนฝึกซ้อม เพราะไทฟูโดคือศิลปะการป้องกันตัวของคนไทย

“ไทฟูโด” เป็นชื่อเรียกศิลปะป้องกันตัวแขนงใหม่ โดยผมชีวิน อัจฉริยะฉาย ผู้ก่อตั้งศิลปะป้องกันตัวไทฟูโดและในปี พ.ศ.2562 ที่ผ่านมานี้ ไทฟูโดมีอายุครบ 30 ปีแล้ว

“การได้มาซึ่งความสำเร็จที่ว่ายาก การรักษาความสำเร็จนั้นยากกว่า”

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
วูซู (Wushu) หรือที่รู้จักในชื่อกังฟู (Kung Fu) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน วูซูไม่...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
กังฟูเส้าหลินเป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ศิลปะการต่อสู้นี้...
อุปกรณ์ฝึกมวย เช่น กระสอบทราย, นวมมวย, และเป้าซ้อม ที่ใช้สำหรับการฝึกทักษะและเพิ่มความแข็งแรงในการต่อสู้
กระสอบทรายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่นักมวยและผู้ฝึกซ้อมใช้เพื่อพัฒนาทักษะการต่อสู้และความแข็งแกร่งของร่างกา...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
นวมมวยเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการชกมวย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน นวมมวยมีบทบ...
dark-style-ninja-naruto (Web H)
หวง เฟย์หง หรือ หว่อง เฟ้ย์ห่ง เป็นปรมาจารย์กังฟูที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน มีชื่อเสียงเป็นที่...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
สนามมวยลุมพินี (อังกฤษ: Lumpinee Boxing Stadium) เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทยที่มีความสำคัญเทียบเท...