บทที่ 22 มวยหวิงชุน (Wing Chun) สืบสายหวิงชุนสายมวยเรือแดง

บทที่ 22 มวยหวิงชุน (Wing Chun) สืบสายหวิงชุนสายมวยเรือแดง
taifudo book22 (Web V)

ตั้งแต่ปี พศ.2545 ผมมีโอกาสเดินทางไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ผมได้ฝึกกังฟูเพิ่มเติมจากอาจารย์จากสำนักมวยและอาจารย์ของสมาคมจิงอู่อีกหลายท่าน กังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มาจากหลากหลายชนเผ่าและกระบวนท่าต่างๆ ที่มาจากสัตว์บางชนิด เป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน และเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมที่มีความยาวนาน และมีบทบาทสำคัญในทุกยุคสมัยที่มีการรบทัพจับศึกของประเทศจีนแต่โบราณกาล สำหรับผมกังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ลึกลับมหัศจรรย์ ลีลากระบวนท่างามสง่าและมีเสน่ห์ชวนหลงใหลยิ่งนัก

หัวข้อ

มวยหวิงชุน (Wing Chun) นับเป็นวิชาที่ค่อนข้างใหม่หากเทียบกับมวยจีนกังฟูอื่นๆ แต่มวย Wing Chun กลับมีข้อขัดแย้งและปริศนามากมายเกี่ยวกับประวัติต้นกำเนิด และการสืบสายวิชา เนื่องมาจากความผิดพลาดในการบอกต่อ การหลงลืม การละเลยข้อมูลบางส่วน รวมไปถึงการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ ทำให้มีหลากหลายแนวคิด หลายทฤษฎีเกี่ยวกับประวัติและการสืบทอดของวิชานี้ นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านยังได้ร่ำเรียนวิชามาจากหลายสาย จากอาจารย์หลายท่านหรือเรียนจากศิษย์พี่ และเพื่อนๆ แล้วนำมาพัฒนาเป็นรูปแบบของตัวเอง สายการสืบทอดจึงค่อนข้างสับสนยุ่งเหยิงและสายต่างๆ อาจจะบันทึกเกี่ยวกับคนๆ เดียวกันในมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1644 ถึง ค.ศ.1911 ประเทศจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) ในช่วงต้นปี ค.ศ.1700 ชาวแมนจูได้ตระหนักถึงภัยคุกคามจากกิจกรรมของวัดเส้าหลินที่ค่อนไปทางต่อต้านราชวงศ์ทั้งยังมีการพัฒนาศิลปะการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขจัดภัยคุกคาม ผู้ปกครองราชวงศ์ชิง จึงตัดใจกวาดล้างพระของวัดเส้าหลิน และเผาทำลายวัด ในศตวรรษที่ 18

ชาวแมนจูล้มล้างราชวงศ์หมิงของเผ่าฮั่นแล้วสถาปนาเป็นราชวงศ์ชิงขึ้นแทนผู้ที่รอดจากการรุกรานจึงได้หลบซ่อนตัวและทำการฝึกสอนวิทยายุทธ ให้กับศิษย์รุ่นใหม่ๆ เพื่อสร้างรากฐานกำลังเพื่อทำการปฏิวัติและเพื่อเป็นการแสดงตัวว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปฏิวัติ พวกเขาจึงคิดคำขวัญประจำกลุ่มขึ้น ความว่า “Wing yun chi jee; Mo mong Hon juk; Dai deiwuichun” หมายความว่า “จงกล่าววาจาด้วยความมุ่งมั่น จงอย่าลืมชนชาติฮั่น สักวันฤดูใบไม้ผลิจะกลับมาอีกครั้ง”

ผู้ใดรู้คำขวัญดังกล่าว ก็จะนับรวมเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งสิ้น ต่อมาเพื่อความสั้นและกระชับ และเป็นการอำพรางตัวจากทางการคำขวัญจึงถูกย่อเหลือเพียงว่า “Wing chun” ซึ่งแปลว่าฤดูใบไม้ผลิมีอยู่เสมอ อีกนัยหนึ่งคำว่า “Wing” มาจากชื่อของ ChanWing-Wah ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งพรรคฟ้าดินคนหนึ่งและคำว่า “Chun” มาจากการนำเอาตัวอักษรจีน 3 ตัวมารวมกันมาจาก Tai แปลว่ายิ่งใหญ่เป็นสัญลักษณ์แทนราชวงศ์หมิง Tien หมายถึงสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์แทนพรรคฟ้าดิน

Yat แปลว่าดวงอาทิตย์ เป็นสัญลักษณ์แทนการกลับมาของแสงสว่าง ซึ่งใช้แทนคำขวัญของการต่อต้านราชวงศ์ คืออิสรภาพจะกลับมาก็ต่อเมื่อล้มล้างราชวงศ์ชิงได้และชื่อดังกล่าวยังกลายเป็นชื่อของของวิชาที่เหล่าผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงได้ใช้เรียกและฝึกฝนกันผู้คนจำนวนมากที่ได้เข้าร่วมต่างก็มีการนำเอาศิลปะการต่อสู้ของตนเองนำมาใช้ฝึกฝนจนถึงการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดให้กัน ซึ่งประกอบไปด้วยรูปแบบมวยหลายๆ แขนง เช่น มวยของเส้าหลินใต้, ตั๊กแตนใต้, ไท่เก๊ก, ปากั้วจ่าง, กรงเล็บเหยี่ยว ฯลฯ มวยเหล่านี้ถูกใช้อยู่ในกลุ่มผู้ปฏิวัติราชวงศ์ชิง ต่อมาได้ถูกเผยแพร่ออกมาสู่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เช่นประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฯลฯ

ตำนานของมวย Wing Chun เริ่มขึ้นที่วัด Siu Lam Jee (Shoalinsi หรือ Young Forest Temple) ในสมัยราชวงศ์ Qing วัดแห่งนี้นอกจากจะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาแล้ว ยังเป็นที่หลบภัยสำหรับผู้ต่อต้านราชวงศ์ Qing อีกด้วย หากแต่ว่าวัดแห่งนี้ก็ไม่ได้เป็นที่มั่นที่ปลอดภัยที่สุด อายุขัยของวัดนี้ขึ้นอยู่กับเพียงว่าราชวงศ์ Qing ต้องการจะเก็บไว้นานแค่ไหนและจะทำลายลงเมื่อใดเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีไส้ศึกภายในวัดที่คอยส่งข่าวให้กับทางการอีก เช่น Ma Ning-Yee จนกระทั่งวันหนึ่งทหารก็ได้เข้ากวาดล้างและเผาวัดเส้าหลิน แต่เหล่าผู้อาวุโสทั้งห้า (ng jo) สามารถหนีรอดออกมาและหาที่หลบภัยได้ ผู้อาวุโสทั้งห้านี้ ประกอบไปด้วย Jee Shim Sim Si (Jee Shim, Chan Buddhist Teacher), Fung Dao-Duk, Miu Hin, Bak Mei Dao Yan (White Eyebrows, Taoist), และ Ng Mui Si Tai (Five Plums, Nun) ซึ่งแม่ชี Ng Mui (หรือ Wu Mei) ได้หลบหนีไปยัง Bak Hok Jee (Baihesi หรือ White Crane Temple) บนเชิงเขา Daliang บนรอยต่อ ระหว่างมณฑล Sichuan และ มณฑล Yunnan และในตำนานบอกไว้ว่า ณ ที่นั่นเอง Ng Mui ได้เห็นการต่อสู้ระหว่างงูและนกกระเรียน จนเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมา นำหลักการการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งสองผนวกรวมเข้ากับมวย Siu Lam ที่ได้ร่ำเรียนมา และให้กำเนิดเป็นศิลปะการต่อสู้แขนงใหม่ขึ้นมา

เนื่องจากแม่ชี Ng Mui ตั้งใจจะสอนมวยดังกล่าว (ณ เวลานั้น ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อ) ให้กับผู้ที่ภักดีต่อราชวงศ์ Ming เท่านั้น แม่ชี Ng Mui จึงสอนอย่างลับๆ และทำการเลือกเฟ้นศิษย์อย่างเข้มงวดโดยลูกศิษย์ในตอนนั้นเป็นผู้หญิงชื่อ Yim Wing-Chun เธอเป็นหญิงสาวที่มีชื่อเสียงจากความสวย และความน่ารักของเธอ และมีอันธพาลคนหนึ่งต้องการที่จะบังคับเธอให้แต่งงานด้วย เธอจึงใช้วิชาที่ร่ำเรียนจาก Ng Mui ประลองยุทธกับอันธพาลคนดังกล่าว จนได้รับชัยชนะ และสามารถขับไล่อันธพาลคนดังกล่าวออกไปจากเมืองได้ และเธอก็มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นนักสู้มีฝีมือดีคนหนึ่ง

ต่อมา Yim Wing-Chun ได้แต่งงานกับพ่อค้าขายเกลือ ชื่อว่า Leung Bok-Chao แล้ว Yim ก็ได้ถ่ายทอดวิชาดังกล่าวต่อให้กับสามี ซึ่งสามีของเธอได้ตั้งชื่อให้ว่า Wing Chun kuen (มวยของ Wing Chun) เพื่อเป็นเกียรติแก่ Yim Wing-Chun ต่อจาก Leung Bok-Chao เขาก็ได้ถ่ายทอดให้กับสมาชิกของกลุ่มงิ้ว Hung Sen (Red Boat) คือ Leung Lan-Kwai (บางตำนานก็กล่าวว่า Leung เป็นผู้ที่มีความรู้สูงและร่ำรวยหรือเป็นหมอสมุนไพร) และ Leung Lan-Kwai ก็ได้สอนต่อให้กับเพื่อนที่เป็นนักแสดงงิ้ว Red Boat ด้วยกันคือ Wong Wah-Bo และ Lueng Yee-Tai

ตำนานหลายตำนานกล่าวไว้ว่า LuengYee-Tai นั้นเป็นคนค้ำถ่อเรือให้กับคณะงิ้ว เขาจะคอยถ่อเรือให้หลบหินสิ่งกีดขวาง และหลีกเลี่ยงเขตน้ำตื้น และบนเรือนั้นเอง เขาได้พบเพื่อนใหม่ซึ่งเป็นพ่อครัวอยู่บนเรือ นามว่า Jee Shim หรือก็คืออดีตเจ้าอาวาสของวัด Siu Lam นั่นเอง Jee Shim ได้ตัดสินใจที่จะสอนวิชาพลอง (Six-and-a-half point pole) ให้กับ Leung Yee-Tai ไม่นานนัก Lueng ก็ได้ฝึกฝนวิชาพลองจนเชี่ยวชาญ และได้ไปพบกับ Wong Wah-Bo ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมวย Wing Chun, Leung และ Wong ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน เขาทั้งสองมักจะพูดคุย และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้
เสมอๆ จนในที่สุด เมื่อผ่านการขัดเกลาแล้วมวย Wing Chun ก็ได้รวมเอาวิชาพลอง Six-and-a-half เข้าไว้ด้วย

ทั้ง Wong Wah-Bo และ Leung Yee-Tai ได้ถ่ายทอดวิชาต่อให้กับหมอ Leung Jan ซึ่งต่อมาเป็นผู้ที่ได้สร้างชื่อเสียงให้กับมวย Wing Chun ด้วยฝีมือของเขาและเรื่องราวของเขาได้ถูกสร้างขึ้นเป็นนิยายและภาพยนตร์มากมาย

หมอ Leung Jan เชี่ยวชาญด้านการใช้สมุนไพรรักษาโรคและได้รับฉายาคือ Jan Sin-Sang (Mr.Jan) จากอาชีพของเขาที่เป็นหมอและความนุ่มนวลในอิริยาบถของเขาและยังได้รับอีกฉายาคือ Wing Chun Wong (King of Wing Chun) จากความเชี่ยวชาญในการต่อสู้และชื่อเสียงซึ่งได้รับจากการประลองยุทธต่างๆ Leung Jan ได้สอนมวยที่ร้าน Jan Sang Tong (Mr.Jan’s Hall) ของเขา ที่ถนน Fai Jee ในเมือง Foshan เขามีลูกศิษย์หลายคน เช่น ลูกชายของเขาเองLeung Chun และ Leung Bik และผู้สืบทอดของเขาคือ Chan Wah-Shun

Chan Wah-Shun หรือที่รู้จักกันในนาม Jiao-Chin Wah (Moneychanger Wah) เนื่องจากเขาเป็นผู้แลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ Chan ได้ฝึกฝน Wing Chun อย่างชำนาญและสร้างชื่อเสียงให้กับมวยนี้ต่อจากอาจารย์ของเขา ด้วยการชนะศึกต่างๆ มากมาย

ในเหล่าผู้สืบทอดของ Chan Wah-Shun นั้น (ซึ่งกล่าวกันว่ามีทั้งหมด 16 คน) หนึ่งในนั้นเป็นลูกชายของเขา คือ Chan Yiu-Min และนอกจากนั้นเป็นเหล่าศิษย์ของเขา เช่น Ng Siu-Lo, Ng Jung-So, Lui Yiu-Chai, Lai Hip-Chi, และ Yip Man ซึ่งในที่สุดแล้ว คือ Yip Man นี่เองที่จะเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับมวย Wing Chun (Yip Man Wing Chun)

อาจารย์ Yip Man เกิดในราวๆ ปี ค.ศ.1890 ในครอบครัวที่ร่ำรวยในเมือง Foshan และเมื่ออายุได้ประมาณ 13 ปี (บางตำนานกล่าวว่าอายุน้อยกว่านั้น) เขาได้พบกับ Chan Wah-Shun ซึ่งใช้สถานที่ของครอบครัวของ Yip Man เพื่อทำการสอนมวยอยู่ เขาจึงขอให้ Chan สอนมวยให้ ในตอนแรกนั้น Chan คิดว่า Yip เป็นเด็กเรียน และมีบุคลิกที่นิ่มนวลเกินกว่าจะมาฝึกศิลปะการต่อสู้ Chan จึงพยายามหาอุบายเพื่อเปลี่ยนใจ Yip Man จึงได้ขอค่าสอนเป็นเงินจำนวนมาก แต่ด้วยความตั้งใจอันแรงกล้าของ Yip Man เขาได้เอาเงินเก็บที่มีทั้งหมดมาให้ จนสามารถชนะใจ Chan ได้เรียนมวย Wing Chun และกลายเป็นผู้สืบทอดคนสุดท้ายของ Chan Wah-Shun ต่อมาหลังจาก Chan ได้เสียชีวิตลงแล้ว Yip Man ได้ฝึกฝนต่อจากผู้ที่เป็นศิษย์พี่ และเป็นผู้สืบทอดลำดับต้นๆ จาก Chan Wah-Shun คือ Ng Jung-So

มีบันทึกหนึ่งกล่าวว่า Yip Man ได้มีโอกาสศึกษามวย Wing Chun อีกครั้งขณะกำลังเรียนอยู่ที่วิทยาลัย Stephen ในฮ่องกงในช่วงปี ค.ศ.1910 เพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาได้พาเขาไปพบกับผู้อาวุโสท่านหนึ่งซึ่งร่ำลือกันว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือกล้าแกร่งในวงการมวย Yip Man ได้ท้าประลองกับผู้อาวุโสคนดังกล่าว การประลองมีขึ้นที่บริเวณท่าเรือแห่งหนึ่ง Yip Man เป็นฝ่ายเข้าโจมตี แต่ทว่าพลาดและตกน้ำ ต่อมาในภายหลัง Yip จึงได้รู้ว่าผู้อาวุโสคนดังกล่าวคือ Leung Bik ลูกชายของ Lueng Jan และมีศักดิ์เป็นอาจารย์ลุงของเขาเอง (sibak) จากนั้น Yip Man จึงได้ติดตาม Lueng Bik อยู่ 2-3 ปี เพื่อฝึกฝนวิชา Wing Chun ก่อนที่จะเดินทางกลับบ้านของเขาในเมือง Foshan ในเวลาต่อมา

ในยุคของ Yip Man ผู้ที่มีวิชามวยที่มักจะเก็บเป็นความลับ และไม่ถ่ายทอดต่อให้กับใครๆ ในช่วงแรก Yip Man จึงไม่ได้สอนมวยให้กับคนทั่วไป และฝึกฝนกับเพื่อนสนิทหรือผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ด้วยกันเท่านั้น แต่ต่อมาสภาพการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไป เมื่อญี่ปุ่นได้เข้ายึดบางส่วนของจีน ชีวิตของ Yip Man ตกอยู่ในความยากลำบากและฐานะของครอบครัวเขาก็เริ่มแย่ลง จนกระทั่งในปี 1941 เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจของ Chow-Chen Chung, Yip Man ได้เริ่มสอนมวย Wing Chun ที่หมู่บ้าน Yongan ศิษย์ในยุคนั้นประกอบไปด้วย ลูกชายของ Chow คือ Kwong-Yui, Kwok Fu, Chan Chi-Sun, Lun Kai, และ Chow Sai ของ Yip Man ส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปแล้ว เหลือเพียง Kwok Fu และ Lun Gai ที่ยังคงทำการอนุรักษ์วิชาต่อไปที่เมือง Foshan

เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดนั้น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงแล้ว Yip Man อาจจะอยู่ต่อไปในเมือง Foshan ต่อไปและมวย Wing Chun คงไม่ได้ปรากฏสู่สายตาชาวโลกและสร้างชื่อเสียงอย่างมากมายเหมือนในปัจจุบันจนกระทั่งปี 1949 ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ของเหมา เจ๋อตุง เข้ายึดอำนาจและควบคุมประเทศจีนไว้ได้ Yip Man จึงต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดและต้องลี้ภัยออกจากแผ่นดินบ้านเกิดของเขา

ช่วงปลายปี ค.ศ.1949 โชคชะตาก็พา Yip Man กลับมาสู่ฮ่องกงอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาอายุมากและไม่ได้ร่ำรวยอีกต่อไปแล้ว เขาต้องไปขอพักอยู่กับสมาคมคนงานร้านอาหารที่เกาลูน (Restaurant Workers Association) ซึ่งเขาได้รับการแนะนำโดยเพื่อนของเขา Lee Man และในขณะนั้น Leung Sheung เป็นผู้สอนมวยอยู่ที่สมาคมดังกล่าว เขาสอนมวย Choy Lay Fut เป็นหลัก นอกจากนี้เขายังมีวิชา lung ying mor kiu (dragon-shape rubbing bridges style), Bak Mei pai, และ Jee Shim Wing Chun ของ Dong Suen ถึงแม้ว่าขณะนั้น Yip Man อายุมากแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความห้าวหาญของเขาลดลง เขาได้วิจารณ์ฝีมือของ Leung Sheung ต่อหน้าเหล่าศิษย์ของ Leung Sheung ทั้งสองจึงได้ทำการประลองฝีมือกันและผลของการประลองก็จบลงด้วยการที่ Leung Sheung ขอเป็นศิษย์ Yip Man นับจากนั้นเป็นต้นมา Yip Man ก็มีอาชีพเป็นผู้ฝึกสอนมวยอยู่ที่ฮ่องกง

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ.1950 Yip Man เริ่มสอนโดยมีศิษย์เพียง 12-13 คนเท่านั้น ไม่นานนักหลังจากนั้นศิษย์รุ่นที่สองก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า จนถึงปี ค.ศ.1951 Yip Man รับศิษย์รุ่นที่สาม ซึ่งมีผู้สนใจมากกว่า 40 คน มวย Wing Chun ของ Yip Man ได้รับความสนใจในหมู่สมาชิกของสมาคมคนงานร้านอาหารอย่างรวดเร็ว จนแม้แต่ผู้คนทั่วไปนอกสมาคมก็เริ่มให้ความสนใจ ในที่สุดมวย Wing Chun ก็เริ่มถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไป หลังจากที่ถูกเก็บไว้เป็นวิชาที่สอนกันอย่างลับๆ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ Yip Man ยังได้สอนวิชาของเขาให้กับสมาชิกในครอบครัวของเขาด้วย เช่น หลานชายของเขา Lo Man-Kam (ปัจจุบันอยู่ที่ไทเป ประเทศไต้หวัน) ลูกชายของเขา ได้แก่ Yip Chun และ Yip Ching ที่ตามมาอยู่ฮ่องกงในปี ค.ศ.1962

และในที่สุดในปี ค.ศ.1972 หลังจากได้ถ่ายทอดวิชา Wing Chun ให้กับลูกศิษย์นับพันคน และได้เห็นวิชาของเขาถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ปรมาจารย์ Yip Man ก็ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคแทรกซ้อนจากมะเร็งในลำคอ ชื่อเสียงของ Wing Chun ในฐานะเป็นศิลปะการต่อสู้ยังโด่งดังมากขึ้นไปอีกจากการชนะในการประลองต่างๆของเหล่าผู้สืบทอดของ Yip Man เช่น Wong Shun-Leung, Cheung Chuk-Hing, Lee Siu-Lung หรือที่รู้จักกันในนาม Bruce Lee (บรู๊ซ ลี) ซึ่งเป็นผู้ที่ทำให้ชื่อเสียงของ Wing Chun ได้ขจรขจายไปทั่วโลกจากทั้งภาพยนตร์และการสอนของเขา และอีกหลายคน

หลังจากบรู๊ซ ลี ได้ปรากฏตัวในวงการภาพยนตร์จนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกแล้วนั้น เขาก็ได้ทำให้มวย Wing Chun สไตล์ของอาจารย์ Yip Man ที่เขาได้ร่ำเรียนมาให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกไปพร้อมๆ กับเขาด้วย แต่นอกจากชื่อเสียงแล้ว ผู้คนทั่วไปมักจะมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับมวย Wing Chun กล่าวคือ คนส่วนใหญ่คิดว่ามวย Wing Chun นั้นมีเพียงสไตล์เดียว คือสไตล์ของอาจารย์ Yip Man ที่บรู๊ซ ลี ใช้ในภาพยนตร์และยังคิดไปอีกว่าอาจารย์ Yip Man เป็นผู้สืบทอดแต่เพียงผู้เดียวของมวย Wing Chun แต่ในความเป็นจริงแล้ว มวย Wing Chun นั้นมีหลากหลายรูปแบบ มีหลายสาย แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สไตล์ต่างๆ ก็เริ่มเลือนหายไป จนมีเพียงน้อยคนนักที่รู้จัก หรือเป็นผู้สืบทอดต่อมา

ในปี ค.ศ.1995 (พ.ศ.2538) ขณะนั้นผมอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ อาจารย์โค้ว (อาจารย์ประมวล ภูมิอมรหรืออาจารย์โคว จุน ฮุย) เดินทางจากกรุงเทพฯมาหาผมและอยู่เที่ยวเชียงใหม่ด้วย ทุกครั้งที่พบกันผมจะขอให้อาจารย์โค้วทบทวนวิชาไท่เก๊กให้เสมอ (ผมเริ่มฝึกไท่เก๊กกับอาจารย์โค้วในปี พ.ศ.2533 ที่กรุงเทพฯ) ครั้งนี้ อาจารย์โค้วทบทวนและเพิ่มเติมวิชาไท่เก๊กให้และอาจารย์โค้วยังได้ถ่ายทอดมวยชุดตั๊กแตนใต้ (มวยจูแกก่า) ไว้ให้ผมได้ฝึกอีกด้วย

อาจารย์โค้วเกิดเมืองไทยแต่ไปเติบโตและฝึกมวยจีนเส้าหลินใต้ที่เมืองจีน เมื่ออาจารย์โค้ว อายุ 17 ปี ท่านกลับมาประเทศไทยเพื่อรับการเกณฑ์ทหาร และอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯจนได้มาพบและขอเป็นศิษย์อาจารย์แบ๊เง็กปอซึ่งลี้ภัยมาจากเมืองจีน อาจารย์แบ๊เง็กปอเรียนมวยจีนมาจากเมืองจีนกับอาจารย์สองท่านคืออาจารย์เจ็งโหล่ยโก้ว และอาจารย์ลี้ ฉายา ลี้ใต้ยิ้ง อาจารย์แบ๊เง็กปอได้เรียนมวยจีนทั้งห้าสกุล คือ เจ็งแกก่า ลี้แกก่า แบ้แกก่า เตียแกก่า และจูแกก่า ซึ่งมวยเหล่านี้เป็นมวยจีนใต้ทั้งหมด

นอกจากอาจารย์โค้วจะฝึกมวยจีนใต้มาแล้ว แต่เมื่อท่านมาอยู่เมืองไทยท่านได้ไปเรียนมวยไทยกับอาจารย์ผล พระประแดง (ผล พูนเสริม เป็นชาวจังหวัดลพบุรีเป็นนักมวยสากลรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นจนได้ฉายา “อาจารย์ผล” หรือ “กระทิงเปลี่ยว” โดยชกทั้งมวยไทยและมวยสากลร่วม 500 ครั้ง โดยไม่เคยแพ้น็อค) อาจารย์โค้ว เป็นหมอรักษาด้านศาสตร์จีนโบราณ จัดกระดูก ฝังเข็ม ครอบแก้ว ท่านมีทักษะยุทธทั้งแข็งและอ่อน อีกทั้งยังเรียนรู้มวยไทยอีกด้วยจนกระทั่งเมื่ออาจารย์โค้วประสบเหตุขาข้างขวาพิการต้องใส่ขาเทียม ท่านจึงมุ่งไปที่มวยไท่เก๊กเป็นหลักอาจารย์โควจุนฮุย เป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์โค้ว สำนักไท่เก๊กแห่งวัดสัมพันธวงศ์หรือวัดเกาะย่านเยาวราชกรุงเทพฯ

หลังจากที่ผมฝึกหมัดชุดตั๊กแตนใต้ที่อาจารย์โค้วถ่ายทอดไว้ให้ไปได้ระยะหนึ่งผมจึงได้สร้างหุ่นไม้ขึ้นเพื่อใช้ฝึกเข้าตีมวยหมัดตั๊กแตนใต้ชุดนี้ การฝึกตีหุ่นไม้ในระยะแรกของผมจึงเป็นการเข้าประยุกต์ ท่าตีหุ่นไม้ด้วยมวยหมัดตั๊กแตนใต้ชุดนี้เรื่อยมา

ในปี 1996 (พ.ศ.2539) ผมได้รู้จักกับมิสเตอร์ อเล็กซานเดอร์เพื่อนชาวฝรั่งเศสซึ่งชอบฝึกมวยและเรียนมวยมาหลายสำนัก เมื่อมิสเตอร์อเล็กซานเดอร์รู้ว่าผมเปิดสอนมวยที่บ้านและมีหุ่นไม้ไว้ฝึก จึงขอมาฝึกซ้อมที่บ้าน หลังจากที่มาฝึกด้วยกันจึงทราบว่า มิสเตอร์อเล็กซานเดอร์ฝึกมวยหวิงชุน กับอาจารย์เหลี่ยงถิง (ศิษย์อาจารย์ Yip Man) ที่ฮ่องกงและฝึกมวยบราซิลเลี่ยนยิวยิตสูกับอาจารย์แกรซี่รอยจากประเทศบราซิล ในการฝึกซ้อมร่วมกันทำให้ผมได้ฝึกซ้อมตีหุ่นไม้ด้วยมวยหวิงชุนเพิ่มเติมจากการแนะนำจากมิสเตอร์อเล็กซานเดอร์ อีกทั้งผมเคยฝึกมวยยูโดมาก่อนจึงได้ขอคำชี้แนะเกี่ยวกับทักษะทุ่มและทักษะปล้ำแบบบราซิลเลี่ยนยิวยิตสูจากมิสเตอร์อเล็กซานเดอร์อีกด้วย

ในปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ผมเข้าร่วมงานครบรอบ 80 ปี สมาคมจิงอู่สิงคโปร์และพบกับอาจารย์ Lum wing kit ซึ่งเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยฮ่องกง และอาจารย์ Lum wing kit เองก็เปิดสำนักมวยที่ฮ่องกงอีกด้วยจากการพูดคุย อาจารย์ Lum wing kit ทราบว่าผมได้ฝึกมวยตั๊กแตนใต้และมีพื้นฐานท่ามวยหวิงชุนมาบ้างแล้ว อาจารย์ Lum wing kit จึงถ่ายทอดเทคนิคมวยตั๊กแตนใต้ และมวยหวิงชุนสาย Yip Man เพิ่มเติมให้

ถัดมาในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) ผมเข้าร่วมงานครบรอบ 80 ปีสมาคมจิงอู่ ฮ่องกงและพบกับอาจารย์ Lum wing kit อีกครั้ง ครั้งนี้อาจารย์ Lum wing kit ได้มอบตำราท่ารำมวยหวิงชุนของสายอาจารย์ Yip Man ซึ่งอาจารย์ Lum wing kit เป็นคนเขียนหนังสือชุดนี้เอง จำนวน 3 เล่ม รวม 3 ชุดมวย ได้แก่ Siu Lum Tao, Chum Kiu และ Bil Gee อีกทั้งแนะนำการฝึกฉีเส่าให้ผมได้ฝึกฝนอีกด้วย การเข้าร่วมงานครบรอบ 80 ปีสมาคมจิงอู่ที่ฮ่องกงของผมในครั้งนี้ ยังได้รับถ่ายทอดมวยต่างๆ จากอาจารย์อีกหลายท่าน รวมทั้งท่ารำมวยหวิงชุนสาย Pan Nam Wing Chun ด้วย ต่อมาในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) อาจารย์ กู่ ไฉ่ หว่า จากสิงคโปร์ ผู้สืบทอดมวย Gu Lao Wing Chun และ Ban Chung Wing Chun มาเยี่ยมสถาบันไทฟูโดของผมที่หาดใหญ่ ท่านแสดงท่ารำมวย Gu Lao Wing Chun ให้ชม

ขณะที่ประวัติของมวย Wing Chun ในยุคเริ่มต้นนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เป็นที่ทราบกันว่า Leung Jan ได้ศึกษาวิชาสมุนไพรวิทยาและย้ายจากบ้านเกิดที่ Gu Lao ไปเป็นหมอสมุนไพรที่เมือง Foshan เมื่อ Leung Jan แก่ตัวลง เขาจึงย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านเกิดที่หมู่บ้าน Gu Lao และได้สอนมวยต่อให้กับศิษย์จำนวนหนึ่งในละแวกนั้น โดยเขาสอนรูปแบบที่เขาได้ขัดเกลาแล้ว กล่าวคือ แทนที่จะเน้นไปที่การสอน Wing Chun forms, การฝึกกับหุ่นไม้, และการใช้อาวุธต่างๆ เขากลับเน้นไปที่การฝึก ท่ารำ 40 จุด, เทคนิคพลอง, และเทคนิคมีดคู่ ซึ่งต่อมามวยสไตล์นี้ได้รับชื่อว่า Gu Lao sei sup dim (ชุด 40 จุด ของ Gu Lao Wing Chun) มวยชุด 40 จุด นี้เป็นท่าการประยุกต์ใช้ Wing Chun อย่างคร่าวๆ ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างจากชุดอื่นของ Wing Chun แต่อย่างใด แต่ Leung Jan ก็เลือกที่จะสอนวิชามวยชุดนี้ และในปี2018 (พ.ศ.2561) อาจารย์กู่ ไฉ่ หว่าได้เริ่มถ่ายทอดชุดมวยของสายBan Chung Wing Chun ชุดท่ารำ Siu Nim Tao 班中詠春拳 小念头 ไว้ให้ลูกชายทั้ง 2 คนของผมอีกด้วย

กำเนิดของหวิงชุนที่สืบเชื้อสายมาจากสมาชิกคณะงิ้วเรือแดง (Opera Red Boat) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1845 ถึง ค.ศ.1855 มวย Wing Chun ซึ่งสอนโดย Leung Bok-Chao (สามีของ Yim Wing-Chun) ถ่ายทอดให้แก่ Yik Kam, Hung Garn Biu, Leung Yee-Tai, Wong Wa-bo, Dai Fa Min Kam และ Law Man Kung Yip Kin Wing Chun (Malaysian Wing Chun) Malaysian Wing Chun นั้นยังคงใช้วิธีแสดงความเคารพแบบเดิม (ซึ่งเดิมแล้วสื่อถึงอุดมการณ์ของกลุ่มต่อต้านราชวงศ์ Qing) ซึ่งพบได้ทั่วไปในมวยจีนสายทางใต้ เช่น Hung kuen

มวย Wing Chun ถูกนำเข้าสู่ประเทศมาเลเซียในช่วงทศวรรษ 1930 โดย Yip Kin ฝึกฝนวิชา “Always Spring” หรือ มวยสไตล์ Hung Gar ด้วย

ปรมาจารย์ Yip Kin (葉堅) เกิดในปี ค.ศ.1883 ในช่วงราชวงศ์ชิงเขาอาศัยอยู่ใน Ya Hu (鸦胡) ย้ายมายัง Hamlet และต่อมาเปลี่ยนเป็น Heng Kang Tou (横抗头) หมู่บ้านในมณฑลกวางตุ้งไป่หยุนซาน (白云山) ตำบลเรนฮัว (仁和) ตำบลทางตอนใต้ของจีนในปี ค.ศ.1918 ปรมาจารย์ Yip Kin อพยพไปยังแหลมมลายู (มาเลเซีย) เมื่ออายุ 35 ปี ท่านตามคณะละครงิ้วเรือสีแดงที่เดินทางไปตามชายฝั่งของการตั้งถิ่นฐานของช่องแคบอังกฤษเช่นสิงคโปร์ปีนังและมะละกา ชาวจีนโพ้นทะเลที่ตั้งรกรากอยู่ในรัฐต่างๆ ในแหลมมลายู

ในที่สุดปรมาจารย์ Yip Kin ได้ตั้งรกรากใน Sungei Way ในรัฐ Selangor ของสหพันธรัฐมาลายา (มาเลเซียในปัจจุบัน) หลังจากตัดสินใจทำงานให้กับ บริษัท เหมืองแร่ดีบุกในท้องถิ่น

ในช่วงแรกปรมาจารย์ Yip Kin ได้เรียนรู้ศิลปะการต่อสู้จากปรมาจารย์ที่ล้วนมีชื่อเสียงจากประเทศจีน 4 ท่าน แต่ละท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและรูปแบบต่างๆ ดังนี้

เรียนเชิดสิงโต จากปรมาจารย์ Soh Kai Ming 苏凯明 师傅 เรียน Yum Yeung Ba Gua Kuan และ Butterfly Sword จากปรมาจารย์ Yip Hung Seng 叶行胜 师傅 เรียน Mastering 5 weapons, Plum Flower Staff, Rope and Weight, Three Section Staff, Twin Willow Leaf Broadswords และBench (ม้านั่งยาว) จากปรมาจารย์ Cho Fei Hoong 曹飞鸿 师傅 เรียน5, 7 and 9 section iron whip, Kwan Dao ,Spear, Subdue the Tiger Trident และ Broadsword Rattan Shield จากปรมาจารย์ Yik Kam 翼金师傅 (มวยหวิงชุนคณะงิ้วเรือแดง)

ปรมาจารย์ Yip Kin เริ่มมีชื่อเสียงหลังจากการปราบปรามกลุ่มคนร้ายในท้องถิ่นเพื่อระงับข้อพิพาทดินแดน ท่านมีชื่อเสียงในเรื่องการใช้ไม้พลองยาวในการต่อสู้ จากนั้นท่านได้รับการร้องขอจากหลายฝ่ายให้แบ่งปันความรู้ในด้านศิลปะการต่อสู้ของท่านจนในปี ค.ศ.1926 ท่านอายุ 43 ปี ก็เริ่มเปิดโรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ที่แรกเรียกว่าโลตัสฮอลล์ the Lotus Hall (莲花堂) หลังสมาคมกวางสีที่ตั้งอยู่ในถนนเปตาลิงที่ Pudu; กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย

มวยหวิงชุนสาย Yip Kin เป็น Wing Chun Hung Gar เผยแพร่ที่มาเลเซียเล่ากันว่าในโรงเรียนนั้นปรมาจารย์ Yip Kin ได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับกังฟูในแบบรวมๆโดยย่อให้เป็นวิธีที่ง่ายขึ้นสำหรับนักเรียนในการเรียนรู้และใช้ความรู้ของท่านในมวย Wing Chun เพื่อพัฒนา Yip Kin Wing Chun ในช่วงทศวรรษ ค.ศ.1930 ปรมาจารย์ Yip Kin มีผู้สืบทอดคือลูกชายของท่านคืออาจารย์ Yip Fook-Choy

ในปี ค.ศ.2008 (พ.ศ.2551) ผมได้มีโอกาสฝึกมวยสาย Yip Kin Wing Chun จากอาจารย์ Yip Fook-Choy ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์ Yip Kin (อาจารย์ Yip Kin เป็นลูกศิษย์อาจารย์ Yik Kam มวยหวิงชุนสายคณะงิ้วเรือแดง Opera Red Boat) ต่อมาในปี 2009 (พ.ศ.2552) วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผมจึงได้รับอนุญาตให้ทำพิธียกน้ำชา มอบตัวเป็นศิษย์ สืบสายมวยหวิงชุน สายอาจารย์ Yip kin จึงนับได้ว่าผมเป็นลูกศิษย์ที่ยกน้ำชา (ศิษย์ยกน้ำชาอาจารย์มี 3 คน) ผมเป็นศิษย์ยกน้ำชาคนสุดท้ายของอาจารย์ Yip Fook Choy และเป็นศิษย์คนแรกในประเทศไทยที่สืบสายมวยหวิงชุนสายปรมาจารย์ Yip kin

อาจารย์ Yip Fook Choy (แห่งสำนัก Yip Kin Wing Chun มาเลเซีย) ท่านเป็นอาจารย์ที่มีเมตตาและเอ็นดูผมตลอดมาตั้งแต่รู้จักกันมาตลอดกว่า 10 ปี ในปี 2007 (พ.ศ.2550) เป็นการพบกันครั้งแรก เพราะท่านมาหาผมที่หาดใหญ่ ตอนนั้นผมโดนใส่ร้ายจากคนที่รู้จักกันมาก่อน(ชาวต่างชาติมีภรรยาชาวไทย) เมื่อเกิดเรื่องหมางใจกัน ผมจึงห่างออกจากพวกเขา จากนั้นพวกเขาก็มักว่าร้ายผมให้คนอื่นๆ ทั้งคนไทยและเพื่อนต่างชาติที่ทั้งเล่นมวยและคนอื่นๆ ทั่วไปฟังในเรื่องไม่ดีที่ไม่เป็นความจริง ทำให้คนฟังแม้ไม่รู้จักผมก็เอาไปพูดต่อๆ กันจนผมเสียหาย ท่านก็ได้ฟังข่าวแบบนั้นมา จึงอยากรู้ว่าผมเป็นอย่างที่เขาว่ากันหรือไม่ ทั้งที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแต่ท่านเดินทางจากกัวลาลัมเปอร์มาหาผมที่หาดใหญ่ มา 2 วัน 2 คืน ก่อนจะกลับท่านบอกกับ Andy (ลูกศิษย์ที่พาท่านมาหาผมที่หาดใหญ่) ว่าชีวินไม่ได้เป็นแบบข่าวที่ท่านได้ยินมา (ต่อมาผมสามารถรวบรวมหลักฐานจากคนที่รู้จักหลายๆคนนำมาให้และฟ้องดำเนินคดีบุคคลที่กล่าวหมิ่นประมาทและใส่ความผมตลอด 13 ปีที่ผ่านมาต่อศาล ศาลได้ตัดสิน เรียบร้อยแล้วว่าเขามีความผิดจริงและให้รับโทษและจ่ายค่าเสียหายให้ผมแล้วด้วย) จากนั้นผมก็ได้เดินทางไปกัวลาลัมเปอร์อีกหลายครั้ง ผมหาโอกาสไปเยี่ยมเยียนท่านที่สำนัก Yip Kin Wing Chun เสมอ และหากท่านทราบว่าผมต้องไปโชว์มวยที่ใดตอนอยู่ที่กัวลาลัมเปอร์ ท่านก็จะขับรถตามไปนั่งดูและอยู่ด้วยเสมอ

หลังจากนั้นผมจึงขอให้ Andy ช่วยบอกท่านให้รับผมเป็นศิษย์ยกน้ำชา เป็นศิษย์สายในของสายมวย Yip Kin Wing Chun เพราะผมรู้สึกรักและศรัทธาในตัวท่านที่มีความยุติธรรมไม่หูเบาและมีเมตตาต่อผม อาจารย์ Yip Fook Choy บอกว่าไม่ได้รับศิษย์สายในนานมากแล้วแต่จะรับผมเป็นคนสุดท้ายและเป็นคนเดียวในประเทศไทย ผมเดินทางไปทำพิธียกน้ำชาที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียโดยมีอาจารย์ลุง, อาจารย์อาและศิษย์พี่น้อง Yip Kin Wing Chun มาร่วมเป็นสักขีพยานกัน

ผมได้รับถ่ายทอดมวยจากท่านทั้งที่กัวลาลัมเปอร์ และทุกครั้งที่ท่านมาหาผมที่หาดใหญ่ ท่านให้เกียรติมาร่วมงานในงานไหว้ครูไทฟูโดปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมาด้วย

คืนวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2562 Andy ส่งภาพคู่กับอาจารย์ Yip Fook Choy มาให้ผมทางไลน์ Andyบอกว่าอยู่ในงานของสมาคมมวยจีนในกัวลาลัมเปอร์ อาจารย์ Yip Fok Choy บอก Andy ว่างานไหว้ครูไทฟูโดปี 2563 ท่านจะมาร่วมงานด้วย จะมาถ่ายทอดมวย Yip Kin Wing Chun ที่เหลือและให้ผมถ่ายวิดีโอเก็บไว้ศึกษาด้วย

ช่วงบ่ายวันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2562 ผมทราบข่าวร้ายว่า อาจารย์ Yip Fook Choy ที่ผมเคารพรักยิ่ง ท่านได้จากไปแล้วอย่างสงบ (ท่านเป็นลมแล้วล้มสลบไป) การจากไปเป็นอะไรที่กะทันหันยากจะทำใจได้ผมและครอบครัวเดินทางไปมาเลเซียเพื่อร่วมงานพิธีศพท่านในวันที่ 28-30 สิงหาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา ขอส่งท่านสู่สุขคติด้วยความอาลัยยิ่ง ไม่ใช่เราจะหาอาจารย์ที่ไหนก็ได้ แต่มันต้องมีบุญและวาสนาต่อกันด้วย กว่าจะเป็นลูกศิษย์ท่าน มันมีเรื่องราวที่ทำให้ผมกับอาจารย์มีเรื่องราวต้องผูกพันกัน

การได้ยกน้ำชากับอาจารย์ Yip Fook Choy ไม่ใช่เพราะมวยอย่างเป็นหลัก แต่เพราะความยุติธรรม ท่านไม่ฟังความที่คนพูดให้ร้ายผม ท่านมาหาและพิสูจน์สิ่งที่คนพูดให้ร้ายผม ด้วยตัวท่านเอง มาหาผม อยู่กับผมที่หาดใหญ่ วันที่ท่านกลับ ท่านบอก Andy ว่า “ชีวิน ไม่เป็นอย่างที่คนกล่าวหา” สำหรับผม ท่านเป็นทั้งอาจารย์และ “เปาบุ้นจิ้น”

ที่ผ่านมาผมได้ผ่านการฝึกมวยจากหวิงชุนหลายสายมวย อีกทั้งมีพื้นฐานมวย Hung Gar, มวยไท่เก๊กและ มวยหมัดตั๊กแตนใต้ ฯลฯ จึงทำให้การออกวิชามวยหวิงชุนของผมนั้นมีกลิ่นอายของมวยอีกหลายแขนงรวมอยู่ในนั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผมเองก็ได้นำหลักการต่อสู้แบบระยะประชิดของมวยหวิงชุนมาไว้ในหลักสูตรวิชาไทฟูโดในหมวดของการต่อสู้แบบระยะประชิด เพื่อให้ลูกศิษย์ได้ฝึกฝนทักษะหวิงชุนเพื่อใช้ในการต่อสู้แบบระยะประชิดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (ข้อมูลอ้างอิง: หนังสือ COMPLETE WING CHUN The definitive guide to wing chun’s history and traditions โดย Robert Chu, Rene Ritchie, Y.Wu)

ติดต่อเรา

บทความและข่าวสารอื่นๆ

Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
วูซู (Wushu) หรือที่รู้จักในชื่อกังฟู (Kung Fu) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน วูซูไม่...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
กังฟูเส้าหลินเป็นหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ศิลปะการต่อสู้นี้...
อุปกรณ์ฝึกมวย เช่น กระสอบทราย, นวมมวย, และเป้าซ้อม ที่ใช้สำหรับการฝึกทักษะและเพิ่มความแข็งแรงในการต่อสู้
กระสอบทรายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่นักมวยและผู้ฝึกซ้อมใช้เพื่อพัฒนาทักษะการต่อสู้และความแข็งแกร่งของร่างกา...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
นวมมวยเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการชกมวย ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อมหรือการแข่งขัน นวมมวยมีบทบ...
dark-style-ninja-naruto (Web H)
หวง เฟย์หง หรือ หว่อง เฟ้ย์ห่ง เป็นปรมาจารย์กังฟูที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์จีน มีชื่อเสียงเป็นที่...
Taifudo Academy - โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ หรือ ไทฟูโด รับรองหลักสูตรโดยกระทรวงศึกษาธิการ
สนามมวยลุมพินี (อังกฤษ: Lumpinee Boxing Stadium) เป็นสนามมวยมาตรฐานของประเทศไทยที่มีความสำคัญเทียบเท...