รำลึกถึงอาจารย์โค้ว อาจารย์มวย “ไท่เก๊ก (Tai Chi)” ที่เคารพรักของผม

รำลึกถึงอาจารย์โค้ว อาจารย์มวย “ไท่เก๊ก (Tai Chi)” ที่เคารพรักของผม
ไท่เก๊ก (TaiChi) ศิลปะป้องกันตัว ศิลปะการต่อสู้

ผมคิดว่าผมโชคดีมากที่ได้เรียนมวย “ไท่เก๊ก (Tai Chi)” จากอาจารย์โค้ว เพราะอาจารย์สามารถอธิบายหลักการไท่เก๊กและแสดงหลักการนั้นผ่านทางรูปมวยให้ผมดูได้ด้วย ซึ่งผมขอกล่าวด้วยความสัตย์จริงว่าผมยังไม่เคยเห็นหรือพบใครในเมืองไทย ที่มีความสามารถทางมวยไท่เก๊กลึกซึ้งเท่าอาจารย์เลย จริงอยู่ที่ว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะดีไปหมดสำหรับผม เพราะผมได้เริ่มเรียนมวยไท่เก๊กกับอาจารย์เมื่อยังมีระดับวรยุทธ์ที่ต่ำอยู่ ซึ่งทำให้ไม่สามารถเข้าใจทุกสิ่งที่อาจารย์อธิบายได้อย่างรวดเร็ว

แต่ว่าการที่ผมได้เห็นการแสดงฝีมือของจริงจากอาจารย์ ก็เป็นการทำให้ผมมีศรัทธาเต็มเปี่ยมที่จะทุ่มเทการฝึกศิลปะการต่อสู้ของผม ไปในแนวทางของมวยไท่เก๊กต่อไป เพราะตระหนักดีว่ามวยไท่เก๊กสามารถจะทำให้บุคคลหนึ่งๆ มีระดับวรยุทธ์ที่สูงมากได้ จนถึงขั้น “รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง” คือไม่มีคำว่าแพ้เลยนั่นเอง หากว่าผู้ฝึกฝนมีความวิริยะอย่างแรงกล้าประกอบกับการชี้แนะอย่างถูกต้อง และชัดเจนจากอาจารย์ที่บรรลุถึงระดับฝีมือชั้นสูงของมวยไท่เก๊กแล้ว เมื่อ 15 ปีก่อน ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2534 เป็นจุดเปลี่ยนแปลงชีวิตของผม ให้เดินมาในเส้นทางสายไท่เก๊กจนถึงทุกวันนี้ วันนั้นเป็นวันแห่งโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ว่าได้

วันนั้นผมต้องไปหาอาจารย์โค้ว เพื่อให้ท่านช่วยรักษาคอของผมที่เคล็ดเนื่องจากไปฝึกไอคิโดมาเมื่อวันก่อนหน้านั้น จริงๆ แล้วช่วงนั้นเฮียพูนได้มาดูแลร้านรักษาคนไข้เต็มตัวแทนอาจารย์โค้วแล้ว แต่เผอิญวันนั้นคุณแม่ของผมโทรไปที่ร้านของอาจารย์ก่อนพาผมไปหา จึงทราบว่าจากอาจารย์โค้วว่าเฮียพูนไม่อยู่ แต่เมื่อเป็นคุณแม่ของผมซึ่งรู้จักกับอาจารย์มานานสิบกว่าปี อาจารย์โค้วจึงบอกให้พาผมไปที่ร้านแล้วท่านจะช่วยรักษาให้ ผมดีใจมากที่ทราบว่าจะได้เจออาจารย์โค้ว เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่นานผมเพิ่งจะรู้ความจริงว่าอาจารย์โค้ว เป็นอาจารย์มวยไท่เก๊กที่เก่งมาก จากคุณแม่ของผมซึ่งท่านบอกว่าอาจารย์โค้วเป็นอาจารย์ใหญ่เลยล่ะ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมได้เริ่มสนใจฝึกฝนศิลปะการต่อสู้แล้วจึงทำให้ผมสนใจ อยากจะเรียนมวยไท่เก๊กจากอาจารย์โค้วมาก

ตอนนั้นผมยังเรียกอาจารย์โค้วว่า “ซิงแซ (คุณหมอ)” ตามคุณแม่ของผมอยู่ เมื่อไปถึงร้านของซิงแซแล้วท่านก็จับดูเส้นที่คอของผมเพื่อรักษาตามวิธีของท่าน ในระหว่างนั้นในใจของผมก็ตุมๆต่อมๆ อยากจะถามซิงแซเรื่องมวยไท่เก๊กแต่ก็ไม่กล้าเอ่ยปาก เนื่องจากในหนังสือ มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า” ของอาจารย์สุวินัย ได้เขียนไว้ว่าตัวอาจารย์สุวินัยเองเป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายแล้ว ผมจึงคิดว่าซิงแซคงจะไม่สอนมวยไท่เก๊กให้ใครอีกแล้ว จึงทำให้ผมไม่กล้าที่จะเอ่ยปากถามเนื่องจากกลัวความผิดหวังนั่นเอง

แต่โชคชะตาฟ้าคงได้ลิขิตมาแล้วให้อาจารย์กับลูกศิษย์ได้พบกันในวันนั้น ขณะที่ซิงแซจับเส้นที่คอของผมอยู่ ท่านก็ถามผมว่าไปทำอะไรมาคอถึงเคล็ด ผมก็ตอบท่านว่าไปเล่นไอคิโดมา พอท่านได้ยินคำว่าไอคิโดเท่านั้นแหละ ก็เหมือนไปจุดชนวนเรื่องศิลปะการต่อสู้ของท่านทันที ซิงแซก็บอกว่าที่คอเคล็ดเพราะเกร็งและใช้กำลังมากไป พวกอาจารย์มวยเก่งๆ เขาไม่ใช้กำลังเยอะๆ กันหรอก เดี๋ยวอั้ว (สรรพนามแทนตัวผู้พูดในภาษาจีนแต้จิ๋ว) จะทำให้ลื้อ (สรรพนามแทนตัวคู่สนทนาในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ดูมั้ยว่าจับยังไงถึงดิ้นไม่หลุด? แล้วซิงแซก็ให้ผมจับแขนและมือของท่านล็อคให้แน่นตามเทคนิคของวิชาไอคิโด ซึ่งผมก็ได้ใช้เทคนิคการจับล็อคแบบนิเคียว (Nikyo) ล็อคแขนและมือของท่าน

แต่ซิงแซก็สามารถแก้ล็อคของผมหลุดออกมาได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งยังล็อคผมกลับแบบที่ผมล็อคท่านไปอีก (ภายหลังผมได้เรียนมวยไท่เก๊กกับอาจารย์โค้วแล้ว ถึงได้รู้ว่าหากเข้าใจหลักไท่เก๊กแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะโดนจับล็อคเลย กลับชอบที่จะให้คู่ต่อสู้เข้ามาจับเราเพราะจะทำให้เราสามารถตีเขาได้ง่ายขึ้น) แล้วท่านก็แสดงเทคนิควิธีการจับและความคุมคู่ต่อสู้ โดยการกดจุดที่แขนและมือและเทคนิคแก้การโดนจับแขนอีกหลายเทคนิค วันนั้นผมจึงได้โบนัสแถมในเรื่องศิลปะการต่อสู้ด้วยนอกเหนือจากการหาย จากการเจ็บเส้นที่คอแล้ว หลังจากแสดงเทคนิคต่างๆ ให้ผมดูแล้ว ซิงแซก็บอกว่ามวยไท่เก๊กเป็นมวยที่ยอดมาก

แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่รำมวยไท่เก๊ก (Tai Chi) อยู่ตามสวนสาธารณะนั้นรำเพื่อสุขภาพเท่านั้น ไม่รู้ความหมายอะไร และไม่สามารถใช้ต่อสู้ป้องกันตัวได้ จึงกล่าวได้ว่าเป็นเพียงการฝึก “ไท่เก๊ก กายบริหาร” เท่านั้นหาใช่การฝึก “มวยไท่เก๊ก” ไม่ เพราะถ้าเป็นการฝึกมวยไท่ เก๊กจริงๆแล้วจะต้องสามารถนำมาใช้ต่อสู้ป้องกันตัวได้ เพราะชื่อวิชาก็บอกไว้ชัดเจนว่าเป็น “มวย” ดังนั้นหากจะเรียนมวยไท่เก๊กจริงๆ จะต้องหาอาจารย์ที่รู้จริงสอนเป็นเท่านั้น

รำลึกถึงอาจารย์โค้ว อาจารย์มวย "ไท่เก๊ก (Tai Chi)" ที่เคารพรักของผม

แต่จนแล้วจนรอดซิงแซก็ยังไม่ได้ปริปาก เรื่องจะสอนมวยไท่เก๊กแต่อย่างใด ผมได้แต่ลุ้นในใจให้ท่านเกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเปิดช่อง ให้ผมขอสมัครเป็นลูกศิษย์โดยที่ใจผมก็เต้นไม่เป็นจังหวะเนื่องจากความตื่นเต้น แล้วในที่สุดซิงแซก็ถามว่าอยากเรียนมวยไท่เก๊กมั้ย? ผมก็รีบตอบไปเหมือนทำนบที่น้ำพังเนื่องจากอั้นมานานว่า “อยากเรียนครับ” แล้วซิงแซก็บอกว่าไปเรียนสิที่สวนลุม ให้ไปเจอที่หอนาฬิกา ถ้าจะไปวันไหนให้โทรศัพท์มานัดก่อนแล้วค่อยไปเจอกัน จำได้ว่าหลังจากกลับมาจากร้านของซิงแซแล้วผมไม่รอช้า ได้โทรไปนัดซิงแซเพื่อไปเจอที่สวนลุมในวันติดๆ กัน นั่นแหละเนื่องจากเป็นช่วงปิดเทอมอยู่

แต่การนัดครั้งแรกของผมกับอาจารย์โค้วนั้น ผมไม่ได้พบท่านตามที่นัดเนื่องจากฝนตกท่านจึงไม่ได้มา ผมจึงนัดใหม่อีกครั้งเป็นวันอาทิตย์ของสัปดาห์นั้นเลยซึ่งในครั้งนั้นเราก็ได้พบกัน การพบกันครั้งแรกของผมกับอาจารย์โค้วที่สวนลุมนั้นเป็นการพูดคุยเกี่ยวกับประเพณี กฎ ระเบียบปฏิบัติในการเรียนมวยไท่เก๊กกับท่านซะมากกว่า แต่ท่านก็ได้สอนท่ารำ 2 ท่าแรกของมวยไท่เก๊ก (Tai Chi) ตระกูลหยางให้ผมไปฝึกให้คล่องๆ ก่อนที่จะเริ่มเรียนต่อไปด้วย เนื้อหาใจความสำคัญๆ ที่อาจารย์โค้ว ได้บอกเล่าและสอนในวันนั้นก็เช่น ประเพณีที่ต้องนำค่าเล่าเรียนของ 3 เดือนแรก ทั้งก้อนมาให้อาจารย์ในพิธียกครู ซึ่งผมก็ยังยึดหลักปฏิบัตินี้อยู่

ในการสอนมวยไท่เก๊ก (Tai Chi) ของผมทุกวันนี้เพราะผมคิดว่าเป็นหลักปฏิบัติที่ดีมาก เพราะจะทำให้ได้ลูกศิษย์ที่มีความตั้งใจและสนใจจริงๆ ในระดับที่จะมีศักยภาพ ที่จะเรียนต่อเนื่องไปในระยะยาวได้ เนื่องจากโดยส่วนใหญ่ ผู้ที่ตั้งใจไม่จริงหรือคิดว่าจะมาลองเรียนเล่นๆ เดือนดูก่อนก็จะถอยออกไปทันทีเมื่อได้ยินว่าจะต้องเสียค่าเรียนก่อนถึง 3 เดือนในครั้งแรก อาจารย์โค้วยังบอกว่าผู้ที่จะสามารถฝึกมวยไท่เก๊กสำเร็จได้นั้น จะต้องมีใจรักจริงๆ และมีความอดทนขยันฝึกซ้อมอยู่เป็นนิจ

การเรียนมวยไท่เก๊กนั้น ไม่ใช่ว่าจะสอนไม่กี่เดือนก็เป็นแล้ว (เข้าใจหลักไท่เก๊ก) แต่ต้องใช้เวลายาวนานหลายปีหรือเป็นสิบปีจึงจะเก่ง และที่สำคัญคือจะต้องมีอาจารย์ที่เก่งคอยสอนด้วย (ภายหลังผมสรุปจากประสบการณ์ของผมว่า อาจารย์เก่งอย่างเดียวนั้นไม่พอ แต่อาจารย์ต้องยินดีถ่ายทอดวิชา และถ่ายทอดเป็น ให้ลูกศิษย์สามารถเข้าใจได้ด้วย ลำพังเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ที่เก่งหรือมีชื่อเสียงอย่างเดียวนั้น สามารถตีความได้เพียงว่ามีความเป็นไปได้ที่ลูกศิษย์อาจจะเก่ง เหมือนอาจารย์เท่านั้นเอง

แต่หากอาจารย์ไม่ยินดีถ่ายทอดหรืออาจารย์สื่อสารกับลูกศิษย์ไม่รู้เรื่อง ความเก่งของอาจารย์ที่มีอยู่ก็จะสามารถถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้ค่อนข้างน้อย แค่ตื้นๆ หรือช้ามาก ดังนั้นผมจึงมีความกังขาเสมอกับชาวตะวันตกที่อุตส่าห์ขวนขวาย ไปร่ำเรียนกับอาจารย์มวยไท่เก๊กที่มีชื่อเสียงถึงเมืองจีน ว่าจะได้วิชามาลึกแค่ไหน เมื่อคิดถึงหลักการของผมข้อนี้แล้ว) อาจารย์โค้วยังเน้นย้ำอีกว่า หากต้องการจะเรียนมวยไท่เก๊กกับท่านแล้วต้องไม่กลัวเจ็บ ถ้ากลัวเจ็บแล้วก็จะไม่เป็นมวย อาจารย์รู้ดีว่าปล่อยแรงไปขนาดไหน เพราะสามารถควบคุมได้ เวลาแสดงการใช้ให้ดูก็จะไม่ตีให้ช้ำในหรอก (จากประสบการณ์การเรียนกับอาจารย์โค้วของผม ผมก็ไม่เคยช้ำในเลย แต่การช้ำที่แขนนั้นมีบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดตอนที่ฝึกผลักมือ กับอาจารย์แบบที่ผมเองก็ไม่รู้ตัวเหมือนกัน แต่พอกลับบ้านไปแล้วดูแขนของตัวเองก็แปลกใจที่พบรอยช้ำเป็นบางแห่งอยู่บ่อยๆ)

แล้วอาจารย์ก็สอนอีกว่าเมื่อเรียนมวยไท่เก๊กเป็นบ้างแล้วก็อย่าไปโอ้อวดว่าตัวเองเก่ง มีอาจารย์ดี เรื่องอย่างนี้ให้เก็บไว้กับตัวเองไม่ควรจะไปโฆษณาให้คนอื่นฟัง เวลาเจอคนคุยเรื่องมวยก็ให้ฟังไว้เป็นความรู้ ฟังแล้วก็ให้คิดว่า ที่เขาพูดมามีหลักการที่ถูกต้องตามที่อาจารย์สอนหรือไม่ ไม่ต้องออกความเห็นโต้แย้งอะไรเขาหรือไปรำโชว์แสดงอะไรให้เขาดูเป็นต้น สุดท้ายก็ดูว่าเขาทำได้แบบที่เขาพูดหรือไม่ ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ที่อาจจะนำไปสู่การต่อสู้โดยการถ่อมตัวไว้เสมอว่าเราไม่เป็นมวย สรุปรวมความคืออย่าโอ้อวด ให้ถ่อมตัว หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และสร้างมิตรกับผู้อื่นอยู่เนืองๆ

รำลึกถึงอาจารย์โค้ว อาจารย์มวย "ไท่เก๊ก (Tai Chi)" ที่เคารพรักของผม

ในวันนั้นอาจารย์โค้วได้บอกให้ผมไปชวนเพื่อนมาเรียนอีก 3 คน เพื่อในภายหลังจะได้จับคู่ฝึกซ้อมกันได้ ผมก็ไปชวนเพื่อนๆมีนิค กอล์ฟ และเอ็ดมาร่วมเรียนด้วย ผมชวนนิคมาเรียนก่อนจึงได้ทำพิธียกครูพร้อมกับนิคในวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2534 โดยเราสองคนได้เตรียมซองแดงมาคนละซอง ข้างในซองมีกระดาษซึ่งเขียนชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันเดือนปีเกิดของพวกเราและคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะเคารพ เชื่อฟังอาจารย์ เป็นคนดีขยันฝึกซ้อมมวยไท่เก๊ก พร้อมทั้งเงินค่ายกครูซึ่งก็คือค่าเล่าเรียน 3 เดือนแรกนั่นเอง แล้วอาจารย์ก็ให้ผมกับนิคยืนถือซองแดงไว้ในมือ แล้วก้มคำนับอาจารย์ เสร็จแล้วท่านก็รับซองแดงไว้พร้อมกับเปิดซองออกนำกระดาษที่พวกเราเขียนข้อมูลส่วนตัว และคำสัตย์ปฏิญาณไว้ออกมาส่งให้พวกเราอ่านให้ท่านฟัง ก็เป็นอันเสร็จพิธียกครู

น่าเสียดายที่เพื่อนๆ ที่ผมชวนมาเรียนนั้นทุกคนเรียนได้ไม่ถึงปีก็เลิกเรียนไป ส่วนผมอยู่เรียนต่อมาเรื่อยๆ จนอาจารย์สิ้นบุญจากโลกนี้และพวกเราไป ซึ่งในระหว่างที่ผมเรียนกับอาจารย์โค้วนั้นก็มีลูกศิษย์ใหม่คนอื่นๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเรียนกับอาจารย์อยู่ตลอด มาเรียนอยู่สั้นบ้างนาน บ้างรวมๆแล้วก็ประมาณ 20 คนเห็นจะได้ แต่ปัจจุบันที่ยังเหลือเกาะกลุ่มไปมาหาสู่กัน อยู่ก็มีพี่ต๊ะ (อาจารย์ชีวิน) ยศ หมิ่น ย้ง เอก และโอ น่าดีใจมากที่หนึ่งในพวกเราคือพี่ต๊ะประสบความสำเร็จสามารถเปิดสำนักมวย อย่างเป็นหลักเป็นฐานและสามารถสืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์โค้ว ในการถ่ายทอดมรดกมวยไท่เก๊กให้แก่คนรุ่นหลังต่อไปได้

ผมต้องขอขอบคุณพี่ต๊ะ (อาจารย์ชีวิน) ที่ได้ให้โอกาสผมเขียนบทความ อาจารย์ติ๊กและอาจารย์ชีวิน ถึงอาจารย์โค้วสำหรับ Website ของ Taifudo ซึ่งทำให้ผมเหมือนกับ ได้ย้อนอดีตกลับไปพบอาจารย์อีกครั้งในขณะที่เขียนบทความนี้ สำหรับผมแล้วอาจารย์โค้วเป็นอาจารย์ที่ผมเคารพรักมาก และเป็นผู้ที่มีบุญคุณกับผมมากเพราะเป็นผู้ให้สุขภาพที่แข็งแรงกับผม และทำให้ผมมีความสามารถและปัญญาดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมวยไท่เก๊กหรือเรื่องการดำเนินชีวิตก็ตาม ช่วง 3 ปีแรก หลังท่านสิ้นบุญแล้วผมยังคิดถึงท่านมากและคิดถึงอยู่บ่อยๆ ด้วยความผูกพัน ที่มีต่อท่านแม้ว่าช่วงนั้นผมจะอยู่ที่อเมริกาก็ตาม น่าเสียดาย ที่ท่านไม่ได้อยู่เห็นผมรับปริญญาตรีและโท ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดตั้งใจ จะร่วมฉลองกับท่านมาตลอด แต่ไม่เป็นไรเพราะผมได้ตั้งใจว่า จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับมวยไท่เก๊กเล่มแรก ออกมาเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงท่านและอุทิศความความดีทั้งหมดที่หนังสือเล่มนี้ จะพึงยังประโยชน์แก่ผู้อ่านให้กับท่านอีกด้วย ผมหวังว่าดวงวิญญาณของอาจารย์ คงจะได้รับรู้ความรู้สึกของผมที่มีต่อท่าน และขอให้ดวงวิญญาณ ของท่านสถิตย์อยู่ในสรวงสวรรค์อย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน…

ด้วยเคารพรักและระลึกถึงอย่างยิ่ง
จากติ๊ก-ลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายคนหนึ่งของอาจารย์เอง

บทความและข่าวสารอื่นๆ

ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
"ไอกิโด" เขียนคำ "คิ" ในแบบตัวอักษรดั้งเดิม
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไชยา (Muay Chaiya)
มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไทย (Muay thai)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
คาราเต้ (Karate) ศิลปะผสมผสานเสริมร่างกายผนึกจิตใจ
คาราเต้ (ญี่ปุ่น: 空手; โรมาจิ: karate; ทับศัพท์: คะระเตะ) หรือ คาราเต้โด (ญี่ปุ่น: 空手道; โรมาจิ: karat...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คืออะไร? 
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) เป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีความเคลื่อนไหวและน่าสนใ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ยูโด (Judo) คืออะไร?
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิ...
Before you continue to use Taifudo Academy
We use required cookies for site navigation, purchasing, improving your browsing experience to:
  • Provide you with services described on the Sites, general administrative and performance functions, and support services;
  • Operate the Sites and verify your identity when you sign in to any of our Sites;
  • Inform you about company news and give updates on our services;
  • Carry out technical analysis to determine how to improve the Sites and services we provide;
  • Track outages and protect against spam and fraud.
If you choose to “Accept all,” we will also use cookies and data to:
  • Improve site performance;
  • Deliver and measure the effectiveness of ads;
  • Show personalized content and ads, depending on your settings.
You can always change your browser settings and other ways to reject cookies. To learn more, please visit www.allaboutcookies.org.