บทที่ 20 กังฟู (Kung Fu) หมัดสกุลหง “หวงเฟยหงวีรบุรุษชาวจีน”

บทที่ 20 กังฟู (Kung Fu) หมัดสกุลหง “หวงเฟยหงวีรบุรุษชาวจีน”
หนังสือ : ศาสตร์แห่งไทฟูโด (Taifudo Academy)

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ผมย้ายมาอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่บ้านเกิดแล้วและมีโอกาสเจอน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และบุคคลทั่วไปที่สนใจอยากฝึกศิลปะป้องกันตัว สนใจอยากฝึกไทฟูโดกับผม บางคนฝึกฝนเพื่อการออกกำลังกายและเรียนรู้การป้องกันตัวและมีอีกหลายๆ คนก็เข้าร่วมพิธียกน้ำชามอบตัวเป็นศิษย์สายในเพื่อฝึกฝนจริงจัง สามารถช่วยนำฝึกสอนไทฟูโดในสถาบันต่างๆรวมถึงสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2540-2547 ในหนึ่งสัปดาห์ผมสอนไทฟูโดให้สถาบันต่างๆทั้งหมดรวม 9 แห่ง ทำให้มีผู้ฝึกไทฟูโดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตั้งแต่ปี พศ.2545 ผมมีโอกาสเดินทางไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ผมได้ฝึกกังฟูเพิ่มเติมจากอาจารย์ของสมาคมจิงอู่อีกหลายท่าน กังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ที่มาจากหลากหลายชนเผ่าและกระบวนท่าต่างๆ ที่มาจากสัตว์บางชนิด เป็นศิลปะการต่อสู้ของชาวจีน และเป็นศิลปะทางวัฒนธรรมที่มีความยาวนาน และมีบทบาทสำคัญในทุกยุคสมัยที่มีการรบทัพจับศึกของประเทศจีนแต่โบราณกาล สำหรับผมกังฟูเป็นศิลปะการต่อสู้ที่ลึกลับมหัศจรรย์ ลีลากระบวนท่างามสง่าและมีเสน่ห์ชวนหลงใหลยิ่งนัก

วิชากังฟู คืออะไร?

วิชากังฟู คือวิชาการต่อสู้สำคัญของชาวจีน ในศิลปะการต่อสู้ของจีน เป็นที่นิยมอย่างมากในการนำดอกเหมยมาเป็นสัญลักษณ์ และตั้งชื่อชุดมวย เนื่องจากดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์วัฒนธรรมจีน ที่มีให้เห็นกันมาช้านาน

เหมย คืออะไร?

เหมย เป็นคำทับศัพท์ในสำเนียงจีนกลางถ้าเป็นสำเนียงแต้จิ๋วก็คือบ๊วย ดอกพลัมหรือดอกบ๊วย (plum blossom) มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เหมยฮัว 梅花 (Meihua) ชื่อเหมยฮัวหมายถึงความชื่นบาน ความมีโชค ความยิ่งใหญ่และอายุยืนยาวกับความอ่อนเยาว์ที่ยืนยงนับว่ามีความหมายที่เป็นมงคลมากอีกด้วย ดอกเหมย เป็นดอกไม้ที่มีต้นกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีน จีนยกตำแหน่งให้ “เหมยฮัว” เป็นดอกไม้ดอกแรกของปี ดอกเหมย เริ่มบานในเดือนหนึ่ง ซึ่งเป็นฤดูหนาว และเป็นดอกไม้ชนิดเดียวของฤดูนี้ เป็นดอกไม้ที่ชอบขึ้นในที่สูง ชอบอากาศหนาว โดยเฉพาะบริเวณมณฑลยูนาน ดังนั้น เมื่อหิมะโปรยปราย อากาศ หนาวเหน็บ ดอกไม้ชนิดอื่นร่วงโรยไปเพราะความหนาวเย็น จะมีเพียงดอกเหมยเท่านั้นที่ออกดอกสีสดใส ตัดกับสีขาวบริสุทธิ์ของหิมะ ชาวจีนยกย่องให้เหมยเป็น 1 ใน 3 สหายแห่งเหมันต์อันประกอบไปด้วย ไผ่-สน-เหมย

เหมย นับว่าเป็นพฤกษาที่ยืนหยัดผ่านฤดูหนาวจนกระทั่งเข้าฤดูใบไม้ผลิ จึงมีคนไม่น้อยชื่นชมในความทรนงของเหมยอีกทั้งดอกเหมยมีสีขาวบริสุทธิ์และมีความสวยสดงดงามมาก สีที่ขาวดั่งหิมะตัดกับความเขียวชอุ่มของก้านใบ จึงเป็นที่มาของจินตนาการของเหล่าบรรดาจิตรกรและนักกวีทำให้ปราชญ์กวีหลายท่านนำดอกเหมยไปเปรียบกับหญิงงาม กวีจีนเปรียบความงามของดอกเหมยว่ามีกลีบดอกขาวประดุจหิมะ ก้านเขียวเหมือนสีหยก ได้รับสมญายอดแห่งความหอมของมวลดอกไม้ โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่ดอกไม้ชนิดอื่นจะร่วงโรยและเหี่ยวเฉา มีเพียงดอกเหมยเท่านั้นที่คงความงาม และความสดชื่นอยู่จนถึงต้นฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้นดอกเหมยจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการมาของฤดูใบไม้ผลิด้วย รวมถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งตรุษจีนและสัญลักษณ์แห่งความสุข ในภาพสิริมงคลสำหรับอวยพรคู่สมรส ภาพดอกเหมยคู่กับต้นไผ่ สื่อว่าดอกเหมยหมายถึงหญิง (ความงาม) ไผ่หมายถึงชาย (ความแข็งแกร่งมั่นคง) ดอกเหมยยิ่งหนาวยิ่งออกดอกมาก สัญลักษณ์แห่งเหมยนั้นมีความหมายที่ดีทั้งต้นเหมยและดอกเหมย

ความหมายของสัญลักษณ์ดอกเหมย คืออะไร?

ดอกเหมยยังเป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงความงามอันสดใสบริสุทธิ์และยังหมายถึงชีวิตใหม่ของวัยสาว ต้นเหมยแม้จะดูบอบบางแต่ความงามอันบอบบางนั้นกลับไม่อ่อนแอไปกับลมหนาวสิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นความประทับใจให้แก่ชนรุ่นหลังทุกยุคทุกสมัย ในวัฒนธรรมจีนนั้นมีความชื่นชมในเหมยมากเป็นพิเศษ ดอกเหมยจัดเป็นดอกไม้สิริมงคล ต้นเหมยเป็นต้นไม้ชนิดแรกที่ผลิตดอกเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้นเมื่อเห็นดอกเหมยผลิบานเมื่อไหร่ก็เป็นความหมาย ว่าฤดูใบไม้ผลิอันแสนอบอุ่นกำลังจะมาถึงแล้ว เปรียบได้ดั่งวันใหม่และชีวิตใหม่ในวันตรุษจีน ความหมายที่ดีของดอกเหมยจึงทำให้ดอกเหมยกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุนเทียนหรือฤดูใบไม้ผลิ และยังเป็นสัญลักษณ์ของความสุขเช่นกัน

ดอกเหมยเป็นสัญลักษณ์ของความอดทน ต่อสภาพที่เลวร้ายต่างๆ อดทนต่อความยากลำบากแม้จะหนาวเย็นเพียงไร ก็ยังแตกกิ่งก้านดอกบานสะพรั่งท้าลมหนาว ด้วยเหตุนี้ชาวจีนจึงถือให้ดอกเหมยเป็นดอกไม้แทนชาวจีน เพราะว่าดอกเหมยไม่กลัวและอดทนต่อความเหน็บหนาว เช่นเดียวกับชาวจีนที่อดทน ขยันขันแข็ง และมีใจสู้

ประเทศจีนเต็มไปด้วยความวุ่นวาย

เมื่อราว 100 ปีก่อน ประเทศจีนเต็มไปด้วยความวุ่นวายไม่สงบสุข ไม่เพียงแต่ประชาชนต้องอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง (ราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีนในช่วง พ.ศ.2187-2455) ซึ่งเป็นชาวแมนจูไม่ใช่ชาวฮั่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเช่นราชวงศ์ก่อนๆ (จีนมีสองราชวงศ์ที่เป็นชนกลุ่มกลุ่มน้อยปกครอง คือราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกลกับราชวงศ์ชิง) แต่จีนในยุคนั้นต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปของชาวต่างชาติจำนวนมากในยุคล่าอาณานิคม จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพของอังกฤษถึงสองครั้ง (ครั้งแรกระหว่างพ.ศ.2382-2385 ครั้งที่สอง พ.ศ.2399-2403) ผลจากสงครามฝิ่นที่จีนพ่ายแพ้อย่างยับเยินในครั้งนั้น ทำให้ประเทศจีนอ่อนแอลงไปอีกมาก ต้องตกเป็นเบี้ยล่างให้แก่ชาติมหาอำนาจต่างๆ ทั้งจากญี่ปุ่น ยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างไม่สามารถขัดขืนได้ ความเดือดร้อนเกิดขึ้นแทบทุกหย่อมหญ้าจนทำให้ชาวฮั่นจำนวนหนึ่งรวมตัวกันขึ้นเพื่อยึดอำนาจการปกครองคืนจากพวกแมนจู นั่นคือการเกิดขึ้นของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ระหว่าง พ.ศ.2394-2407

จากนั้นก็เกิดสงครามขึ้นอีกกับญี่ปุ่นซึ่งเริ่มขยายอำนาจเข้าสู่แผ่นดินจีน เป็นสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 บริเวณคาบสมุทรเกาหลีเมื่อ พ.ศ.2437 ซึ่งจีนก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างหมดรูปอีกเช่นเคย ทำให้ต้องเสียเงินค่าปรับเป็นจำนวนมหาศาล และยกดินแดนบางส่วนคือ เกาหลี ไต้หวัน คาบสมุทรเหลียวตง ให้ญี่ปุ่นด้วย

พ.ศ.2431 เกิดกบฏนักมวยขึ้นที่เมืองชานตง (กบฏนักมวย หรืออี้เหอถวน 義和團) เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มนักสู้ชาวจีนที่ต้องการขับ ไล่ชาวต่างชาติให้ออกไปจากประเทศจีน โดยมูลเหตุเริ่มมาจากความขัดแย้งทางศาสนา เพราะชาวต่างชาติได้เผยแผ่ศาสนาคริสต์สู่ชาวจีนมากขึ้น ประกอบกับการถูกกดขี่ของชาวจีนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ นำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเหตุการณ์สุกงอมในปี พ.ศ.2443 ซึ่งเป็นปลายยุคของพระนางซูสีไทเฮา เมื่อพวกกบฏนักมวยโจมตีสถานที่ต่างๆของคนต่างชาติ และสังหารชาวจีนที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์จำนวนนับหมื่นคน เกิดการต่อสู้กันอย่างหนักที่เมืองเทียนจิงและกรุงปักกิ่งระหว่างพวกนักสู้ชาวจีน และกองกำลังที่รัฐบาลจีนส่งไปช่วยกับกองกำลังผสมนานาชาติ แต่อาวุธและยุทธวิธีการรบที่ด้อยกว่าฝ่ายจีนจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว เพียง 55 วัน กรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามก็ตกอยู่ในมือของกองกำลังต่างชาติ พระนางซูสีไทเฮาต้องหลบหนีไปอยู่ที่เมืองซีอาน ความอัปยศอดสูเกิดขึ้นกับชาวจีนอย่างหนัก เพราะชาวต่างชาติต่างกันพื้นที่ไว้สำหรับพวกตน และห้ามคนจีนเข้าไปในเขตพิเศษนั้น ในช่วงนั้น สมบัติอันมีค่าต่างๆถูกคนต่างชาติปล้นสะดมไปเป็นจำนวนมาก

วิชากังฟูคือวิชาการต่อสู้สำคัญของชาวจีน

ในศิลปะการต่อสู้ของจีนเป็นที่นิยมอย่างมากในการนำดอกเหมยมาเป็นสัญลักษณ์และตั้งชื่อชุดมวย เนื่องจากดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์วัฒนธรรมจีนที่มีให้เห็นกันมาช้านาน กังฟูศิลปะการต่อสู้จีนแม้จะแตกต่างสไตล์กัน แต่อาจมีชุดมวยพื้นฐานที่มีชื่อที่สื่อความหมายเดียวกันว่าชุดหมัดดอกเหมย 梅花拳 (Meihua Quan/Mui Fa Kuen/Plum Flower Fist) และบางครั้งรวมถึงชุด มวยที่ประกอบอาวุธต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างมวยหมัดดอกเหมยของกังฟูศิลปะการต่อสู้จีนสไตล์ต่างๆ เช่น Baijiazhi Meihuaquan, Leijia Meihua quan, Wuzi Meihua quan, Luodi Meihua quan,Meihua Chang quan, Shangsheng Meihuaquan, De’ang Meihua quan, Hunan Meihua quan, Emei Meihua quan, Meihua Jie quan, Shaomo quan-Wang Xiangzhai and Meihua quan, Shunshimen and Meihua quan ,Wumei quan, Shaolin Meihua quan, Cailifo Xiao Meihua quan,Meihua quan and Tanglang quan, Qianhou Meihua quan, Qilu Cha quan Meihua quan, GuRuzhang Bei Shaolin Meihua quan, Qimen and Meihua quan, Tai Chi Meihua Tanglang quan และ Hongjia Meihua quan หรือ Hung Gar Mui Fa Kuen 洪拳- 梅花拳 ของมวยสกุลหงหรือมวยฮุงกานั่นเอง

ชุดมวยหมัดเหมยฮัว

เดิมเป็นชื่อชุดมวยของกังฟูทางเส้าหลินเหนือ ซึ่งเชื่อกันว่าคิดค้นขึ้นโดยปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย Hou Yuan Jia มวยหมัดดอกเหมยยังอาจรวมถึงดาบ, หอก, พลองและอีกหลายอาวุธ สำหรับกังฟูจากเส้าหลิน ใต้ก็มีการถ่ายทอดมวยใช้ชื่อหมัดดอกเหมย 梅花拳 (Meihua Quan/Mui Fa Kuen/Plum Flower Fist) เช่นเดียวกันด้วย อย่างชุด Hung Gar Mui Fa Kuen ของมวยฮุงกา (มวยสกุลหง) เป็นมวยชุดแรกเพื่อเป็นการเริ่มฝึกเบื้องต้น สอนการเดินเท้าและท่าทางพื้นฐานรวมทั้งเทคนิคการเชื่อม และเทคนิคท่ามวยในบางส่วนที่เป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความป็นมวยฮุงกาหลายๆ อย่างรวมอยู่ในมวยชุดนี้ให้ได้ฝึกกันด้วย

มวยฮุงกา – Hung Ga (洪家)

มวยฮุงกา Hung Gar Kuen 洪家拳 (ออกสำเนียงแบบกวางตุ้ง) หรือ Hong Jia quan (ออกสำเนียงเป็นจีนกลาง) คือ หมัดหงฉวนหรือมวยสกุลหงเป็นศิลปะการต่อสู้แบบจีนตอนใต้ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวีรบุรุษในตำนานชาวจีนนามว่า หวงเฟยหง เอกลักษณ์ของมวยฮุงกาคือมีท่ายืนม้า “sei ping ma” (四平馬) เป็นม้าต่ำและกว้าง มีเทคนิคการใช้มือสะพานที่แข็งแกร่ง มั่นคง มีมวยหมัดเหล็กเส้น หมัดเลียนแบบสัตว์ห้าชนิด มวยเสือและกระเรียนปลายปี พ.ศ.2545 ผมเดินทางไปเยี่ยมสมาคมจิงอู่ ประเทศสิงคโปร์ ผมมีโอกาสฝึกมวยเหมยฮัวหรือ Hung Gar Mui Fa Kuen (มวยสกุลหง) จากอาจารย์ Yap Giok Leong (Harold Yap) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนกังฟูของสมาคมจิงอู่ ประเทศสิงคโปร์ อาจารย์ Yap Giok Leong ฝึกฮุงกากังฟูและอีกหลายๆมวยรวมถึงอาวุธจากอาจารย์หลายๆ ท่าน

หมัดสกุลหงนั้นเป็นวิชาการต่อสู้ดั้งเดิมของชาวมณฑลฟุเจี้ยน (ฟุโจว) และวัดเส้าหลินสาขาฟุเจี้ยนมาตั้งแต่หลายร้อยปีก่อน วัดเส้าหลินนั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อ 300 ปีก่อนคริสตกาล แต่ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการสอนศิลปะการต่อสู้ในวัดจนกระทั่งเมื่อ ค.ศ.500 พระภิกษุตะโมภิกขุ (หรือตั๊กม้อในภาษาจีน) พระภิกษุในศาสนาพุทธธุดงค์มาจากอินเดียและพำนักที่วัดเส้าหลินสาขาหลัก ที่มณฑลเหอหนาน ประเทศจีนหลังจากที่พระตั๊กม้อมาพำนักอยู่ ณ วัดเส้าหลิน มณฑลเหอหนาน ท่านได้สอนพระภิกษุที่นั่นว่า การพบแสงแห่งธรรมนั้นไม่ได้มาจากการอ่านพระไตรปิฎกอย่างเดียว หากแต่ต้องเกิดจากการฝึกสมาธิและการฝึกร่างกาย พระสงฆ์ในวัดเส้าหลินจึงได้รับการฝึกฝนการบริหารร่างกายจากพระอาจารย์ตั๊กม้อเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง ในท่วงท่าเหล่านั้นแฝงด้วยเคล็ดลับศิลปะการต่อสู้เพื่อที่จะให้พระสงฆ์สามารถป้องกันตัวเองและป้องกันวัดได้หากมีความจำเป็น พระภิกษุเหล่านั้นต่างฝึกฝนอย่างขยันหมั่นเพียร และบรรจุวิธีการสอนของตั๊กม้อลงไปศิลปะการต่อสู้ของจีนด้วย ในศตวรรษที่ 15 เหล่าหลวงจีนวัดเส้าหลินได้ให้กำเนิด 108 วิธีป้องกันตัว ชื่อเสียงของวัดเส้าหลินจึงโด่งดังไปทั่วจนได้รับสมญาว่า “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งวิทยายุทธจีน”

วัดเส้าหลินสาขาฟุเจี้ยนนั้นแตกสาขาออกมาจากที่มณฑลเหอหนาน เมื่อวัดเส้าหลินที่เหอหนานถูกเผาในปี ค.ศ.1570 พระสงฆ์ผู้มีวิชากังฟูแก่กล้าจำนวนมากได้เดินทางลงใต้ มาพำนักที่ฟุเจี้ยน และได้นำวิชากังฟูมาเผยแพร่อีกด้วยจนกระทั่งวัดเส้าหลินที่เหอหนานได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ แต่ไม่อาจเรียกศรัทธากลับมาได้เหมือนเดิมอีก

เมื่อราชวงศ์ชิง (แมนจู) มีอำนาจในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 17 บทบาทของวัดเส้าหลินถูกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ก่อนหน้านี้วัดเส้าหลินเคยมีบทบาทมากในหลายๆ เหตุการณ์ โดยหลักๆ ก็คือช่วยทางราชการหรือหมู่บ้านใกล้ๆ วัดในการต่อสู้กับพวกทหารข้าศึก หรือโจรที่กระทำการป่าเถื่อน ฆาตกรรมหมู่ชาวบ้าน วัดเส้าหลินนั้นจะไม่สอนวิชาให้คนนอกที่ไม่ได้มาบวชเป็นพระที่นี่ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ร้ายแรงของพวกแมนจู (ราชวงศ์ชิง) ด้วยการที่พระหลายรูปหลบหนีไปได้ ซึ่งในนั้นก็มีพวกอดีตข้าราชการเก่าๆ ของราชวงศ์หมิงเช่นกัน นั่นเป็นยุคแรกที่วัดเส้าหลินเริ่มสอนวิชาให้คนภายนอก

หงซีกวน พ่อค้าขายชากลายมาเป็นศิษย์นอกคนแรกของวัดเส้าหลินที่ฟุเจี้ยน หลังจากทิ้งกิจการของตนเพราะไปมีเรื่องกับขุนนางของราชวงศ์ชิง ในมณฑลกวางตุ้ง หลวงจีน Chi Zin เจ้าอาวาสวัดในเวลานั้น ได้ฝึกสอนหงซีกวนอย่างหนักจนเขากลายมาเป็นคนนอกที่มีชื่อเสียงที่สุด

ทางการชิงนั้น จับตามองการเคลื่อนไหวของวัดเส้าหลินมาตลอดแต่ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่ง หวูฮุ่ยเฉียน ศิษย์นอกอีกคนของวัดได้ฝึกวิชาแล้วไปสังหารขุนนางชิงที่บ้านเกิดของตนเพื่อแก้แค้นให้พ่อ เมื่อทางราชสำนักทราบ จึงระดมกำลังทั้งปืน , ปืนใหญ่และธนูไปที่วัด และทำการถล่มวัดทันทีจนราบคาบ พระสงฆ์ต่างร่วมกันต่อสู้ปกป้องวัดอย่างกล้าหาญ แต่ในที่สุด เปลวเพลิงแห่งราชวงศ์ชิง ก็ทำลายวัดไปจนไม่เหลืออะไร

30 ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นต่างพากันอพยพลงใต้ เช่นหงซีกวน หลวงจีน Sam Tak และเจ้าอาวาส Chi Zin เมื่อมาถึงกวางตุ้ง หงซีกวนได้เปิดโรงเรียนสอนกังฟูขึ้นที่วัดใหญ่แห่งหนึ่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้สืบทอดวิชา 10 ปีต่อมา เขาเปิดโรงเรียนในเมือง Fa โดยให้ชื่อว่า “สำนักมวยสกุลหง” เพื่อปกปิดการสอนมวยเส้าหลิน ไม่ให้พวกราชวงศ์ชิงได้รู้และเพื่อเป็นการระลึกถึงราชวงศ์หมิง ที่ถูกราชวงศ์ชิงทำลายไป สำนักของหงซีกวนกลายเป็นสำนักขนาดใหญ่และมีชื่อเสียง วิชาการต่อสู้นั้นแพร่กระจายไปทั่วภาคใต้ของจีนอย่างรวดเร็ว กลายเป็น 1 ใน 5 สำนักมวยที่ดังที่สุดในภาคใต้ของจีน ทางฝ่ายหลวงจีน Chi Zin อาจารย์ของหงซีกวน เมื่อได้ทราบว่าศิษย์ของตนเปิดสำนักขึ้นที่เมือง Fa จึงส่งผู้ติดตามชื่อ “ลู่อาไฉ่” ไปเรียนที่นั่น ในเวลาต่อมา ลู่อาไฉ่กลายเป็นผู้ชำนาญในศิลปะการต่อสู้ และหงซีกวนส่งเขาไปเผยแพร่มวยทั่วกวางตุ้ง

Wong Tai เป็นผู้ติดตามฝีมือดีของลู่อาไฉ่ และลูกชายของเขา “หวงฉีอิง” ได้เรียนกังฟูจากลู่อาไฉ่และพ่อของเขา เขาพยายามหาผู้ที่จะเข้าใจวิชาการต่อสู้ แต่ก็ไม่พบ อย่างไรก็ตาม หวงฉีอิงก็กลายเป็น 1 ใน 10 ผู้ที่มีฝีมือการต่อสู้ดีที่สุดแห่งกวางตุ้ง หรือ “สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง” สมาชิกกลุ่มสิบพยัคฆ์กวางตุ้ง

หวง ฉีอิง (Wong Kei-Ying, 黃麒英) เป็นบุตรของหวง ไท่ ผู้เป็นศิษย์ของลูกศิษย์ของหง ซีกวน เป็นผู้ใช้เพลงมวยที่เรียกว่า เพลงมวยสกุลหง เป็นบิดาของหวง เฟยหง ผู้ซึ่งกลายเป็นปรมาจารย์กังฟูและวีรบุรุษที่มีชื่อเสียงในเวลาต่อมา

ซู ชาน (So Chan, 蘇燦) หรือที่รู้จักดีในชื่อ “ยาจกซู” (Beggar So, 蘇乞兒) เป็นบุตรชายของคหบดีผู้มั่งคั่งในมณฑลกวางตุ้ง ซู ชาน ในวัยเด็กเป็นคนไม่รู้หนังสือเพราะถูกเลี้ยงมาด้วยการตามใจ แต่ได้เข้ารับราชการจากการติดสินบน ต่อมาเรื่องราวนี้ได้ถูกเปิดโปง ทำให้เขาและครอบครัวต้องกลายเป็นยาจกเร่ร่อน ต่อมาได้เป็นบุตรบุญธรรมของหัวหน้าพรรคกระยาจก และเป็นผู้คิดค้นวิชาหมัดเมา (醉拳) จากการถูกจับกรอกเหล้าเข้าปาก ต่อมาได้ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจก นับเป็นหัวหน้าพรรคกระยาจกคนสุดท้าย และเป็นผู้หนึ่งที่ถ่ายทอดวิชาหมัดเมานี้ให้แก่หวง เฟยหง ด้วย

ทิ เคียวซา (Tiit Kiu Saam, 鐵橋三) หรือเหลียงควง เกิดเมื่อปี ค.ศ.1813 ในแถบกวนตง เป็นบุตรชายคนที่สามของตระกูลเหลียง ฝึกกังฟูตั้งแต่เด็กกับพระวัดเส้าหลิน เป็นผู้คิดค้นวิชาหมัดเหล็กและตะขอเหล็ก ซึ่งวิชานี้ได้ชื่อว่าเป็นเพลงมวยในแบบแข็งกร้าว ต่างจากหมัดเมาของซู ชาน ที่ได้ชื่อว่า เป็นวิชาที่อ่อนหยุ่น และได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้ที่ห้าวหาญที่สุดในบรรดาทั้งสิบและถูกยกให้เป็นผู้นำกลุ่ม

ทิ จี้เฉิน (Tiit Chi Chan, 鐵指陳) มีประวัติลึกลับ ไม่รู้ชื่อที่แท้จริง เชื่อว่าปกปิดชื่อตนเองจากช่วงสงครามฝิ่น เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากวิชาดรรชนีเหล็ก

ซู เฮ็กโฮ้ว หรือภาพยนตร์เรื่องสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง ในปี 1980 เรียกว่า ซู เฮยหู่ (Su Haak Fu) หรือในฉายาว่า “เสือดำ” เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมาจากวิชากรงเล็บพยัคฆ์ (黑虎拳) ที่พัฒนามาจากท่วงท่าของเสือดาวหรือเสือดำ ได้รับการกล่านขานว่าเป็นวิชาเพลงหมัดที่โหดเหี้ยมมาก

หวัง เอี้ยนหลาน (Wong Yan-Lam) เจ้าของฉายา “สิงโตคำรามแซ่หวัง” เป็นผู้ที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีวิชาที่แปลกประหลาดที่สุดในบรรดาสิบคน เนื่องจากในวัยเด็กได้ร่ำเรียนวิทยายุทธมาจากพระสายธิเบต จึงถูกเรียกว่าเป็นวิชานอกรีต สนิมสนมกับหวง ฉีอิง มากที่สุด จากการที่ได้เรียนกับพระธิเบตมา ทำให้ดัดแปลงเพลงมวยสกุลหงที่คิดค้นโดย หง ซีกวน ผสมกันขึ้นมาเป็นเพลงมวยกระเรียนขาว (白鶴拳) ซึ่งต่อมา หวง เฟยหง ก็ได้ร่ำเรียนวิชานี้ด้วยในวัยเด็ก

หวง เติ้งเข่อ (Wong Ching Ho, 黃澄可) เจ้าของฉายา “ศีรษะเหล็ก” เป็นลูกศิษย์ของสาขาวัดเส้าหลินในแถบกวางตุ้ง มีวิชาศีรษะอรหันต์เหล็กด้วยการใช้ศีรษะกระทุ้งไปที่ท้องน้อยของคู่ต่อสู้

ถัน หมิ่น (Tam Chai Hok, 譚濟鶴) ในวัยเด็กเป็นคนใจร้อนวู่วาม จนปู่ของเขาไม่อาจสอนวิชาให้ แต่เนื่องจากมีพรสวรรค์และมีความสนใจเรียนรู้จึงแอบฝึกจนชำนาญเพลงมวยสกุลถันอันประกอบไปด้วย สามหมัด สามเท้าคลี่คลาย ซึ่งแม้ว่าจะมีแค่หกกระบวนเพลงแต่ก็สามารถพลิกแพลงได้ร้อยแปดประการจนไร้ผู้ต่อต้าน จนได้รับฉายาว่า “จอมยุทธสามขา” นับถือกันฉันท์พี่น้องร่วมอุทรกับหลี่ หยุนเชา เคยมีฟู่เซิงมารับบทในสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง ของชอว์บราเดอร์

หลี่ หยุนเชา (Lai Yun Chiu, 黎仁超) เป็นบุตรชายของเศรษฐีแซ่หลี่ เนื่องจากครอบครัวได้ผิดใจกับขุนนางกังฉินจนเป็นเหตุให้ต้องกำพร้าบิดามารดา จึงฝึกวิชาเพื่อล้างแค้น ได้ชื่อว่าเป็นคนที่สุขุม เยือกเย็นที่สุดในบรรดาทั้งสิบมีท่าไม้ตายประจำตัว คือ ฝ่ามือทรายเหล็ก ที่สามารถฝึกถึงขั้นเหนี่ยวรั้งพลังฝ่ามือได้ดั่งใจ ตี้หลุงเคยรับบทในสิบจ้าวพยัคฆ์กวางตุ้ง

โจว ไท่ (Chow Tai, 鄒泰) เป็นคนเดียวในบรรดาสิบคน ที่มีอาวุธใช้ คือ พลอง มีชื่อเสียงมาจากการเอาชนะบอดี้การ์ดของพ่อค้าฝิ่นชาวตะวันตก เนื่องจาก โจว ไท่ เป็นบุคคลที่ต่อต้านการค้าฝิ่น มีท่าไม้ตาย คือ “พลองปฐมจักรพรรดิ์ล่าวิญญาณ” (Soul-Chasing Staff of the First Emperor)

ทั้งสิบท่านถูกยกให้เป็น “สิบพยัคฆ์กวางตุ้ง” ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มคนสิบคนในแถบมณฑลกวางตุ้งที่เชี่ยวชาญในวิชากังฟูหรือวูซู มีบทบาทในช่วงยุคราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644–ค.ศ.1912) ด้วยความที่เป็นผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิงที่กดขี่ชาวฮั่น และการรุกรานประเทศจีนของชาวตะวันตกในแบบมวยกังฟูของสำนักเส้าหลินนั่นเอง

หวงเฟยหง ลูกชายของหวงฉีอิง ได้เรียนวิชาจากบิดา ในเวลาต่อมาเขากลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดในภาคใต้ของจีน เรื่องราวของหวงเฟยหงถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์และละครนับครั้งไม่ถ้วนในปัจจุบัน

หวงเฟยหง เกิดที่หมู่บ้านหลูเจ้า ใกล้ภูเขาสีเฉียว เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2390 ซึ่งเป็นยุคของฮ่องเต้เต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง บิดาคือ หวงฉีอิง (黃麒英) หนึ่งในยอดฝีมือแห่งยุค หวงเฟยหง ประกอบอาชีพเป็นลูกมือของหวงฉีอิงผู้เป็นพ่อซึ่งประกอบอาชีพหมอยาจีน ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ (พ.ศ.2496) เมื่ออายุ 12 ขวบ (พ.ศ.2402) ได้ประลองมวยกับ “เจิ้งเสียงเจา” จนชนะ และได้รับฉายาว่า “วีรบุรุษน้อย” อายุ 13 ขวบ (พ.ศ.2503) ได้พบกับ “หลินฟู่เซิง” (林福成) (พ.ศ.2379-2441) ซึ่งเป็นศิษย์เอกของเหลียงคุนผู้ เป็นหนึ่ง ในสิบพยัคฆ์กวางตุ้งเช่นเดียวกับ หวงฉีอิงบิดาของหวงเฟยหง เหลียงคุนมีฉายา “เที๊ยะเสี่ยวซาน” หรือสะพานเหล็กสาม หวงเฟยหงได้เรียน เที๊ยะเซี่ยนฉวน หรือทิตซิ่นควิ่น หรือหมัดเหล็กเส้นกับหลินฟู่เซิง เป็นเวลา 2 ปี อายุ 16 ปี (พ.ศ.2406) หวงเฟยหงต้องตระเวนไปตามที่ต่างๆ เพื่อแสดงกังฟูและขายยาเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้นจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่หวงเฟยหง จะได้รับการถ่ายทอดวิชาทั้งหมัดมวยตระกูลหวง และการแพทย์จากพ่อมาตั้งแต่เด็ก เชื่อกันว่านอกจากได้วิชาจากผู้เป็นพ่อแล้วเขายังมีอาจารย์ที่เป็นยอดฝีมืออีกคนคือ ลู่อาไฉ (陸阿采) ผู้ถ่ายทอดวิชามวยหงฉวน (洪拳) ซึ่งลู่อาไฉนี้ก็เป็นศิษย์คนสำคัญของหงซีกวน (洪熙官) ยอดฝีมือกังฟูที่ฝึกวิชาหมัดมวยมาจากวัดเส้าหลิน ต่อมาหวงเฟยหงได้ปรับปรุงสร้างเป็นกระบวนท่าขึ้นมาใหม่คือ หมัดพยัคฆ์ดำ-กระเรียนขาว (黑虎拳, 白鶴拳) เป็นมวยฮุงกา (มวยสกุลหง) แต่ที่เลื่องลือที่สุดคือท่าเตะไร้เงา ที่สามารถสยบคู่ต่อสู้มามากต่อมาก ส่วนอาวุธที่เขาถนัดและเชี่ยวชาญที่สุดได้แก่ไม้พลองและสามง่าม

พ.ศ.2406 หวงเฟยหง ซึ่งยังเป็นเพียงวัยรุ่นแต่มีฝีมือด้านกังฟูระดับแนวหน้าสามารถเปิดโรงเรียนสอนกังฟูแล้วในช่วงวัยสามสิบหวงเฟยหงใช้ความรู้ที่ได้ตั้งแต่วัยเด็กจากบิดาเปิดร้านขายยา สอนและรับรักษาโรคแบบฝังเข็มที่กวางเจา ร้านของเขาชื่อ เป่าจือหลิน (寶芝林) ซึ่งเป็นที่รู้จักไปทั่ว เพราะบ่อยครั้งที่เขาช่วยรักษาให้คนจนแบบไม่คิดเงิน ในช่วงที่เกิดสงครามกับญี่ปุ่น หวงเฟยหงถูกเรียกตัวโดยนายพลหลิวหยงฟู่ (劉永福) ผู้บัญชาการกองทัพธงดำให้เข้าไปเป็นแพทย์ประจำกองทัพ ว่ากันว่าก่อนหน้านั้นนายพล หลิวประสบอุบัติเหตุขาหัก และได้รับการรักษาโดยหวงเฟยหงจนหายดี นายพลหลิวจึงสนิทกับหวงเฟยหงมากและชวนให้ไปทำงานเป็นหมอประจำกองทัพ และฝึกวิชาต่อสู้ป้องกันตัวให้ทหารด้วย หวงเฟยหงได้เข้าสู้รบกับญี่ปุ่นในครั้งที่ญี่ปุ่นบุกเกาะไต้หวันด้วย หลังจากนั้นไม่กี่ปีประเทศจีนก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ ดร.ซุนจงซาน หรือซุนยัดเซ็น สามารถปฏิวัติล้มราชวงศ์ชิงที่อ่อนแอลงจนถึงที่สุด เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐได้สำเร็จ ประวัติศาสตร์ช่วงสั้นๆช่วงหนึ่งของจีนในยุคที่ยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ซึ่งในช่วงนั้นเองก็เกิดยอดกังฟูหวงเฟยหง (黃飛鴻) แห่งกวางตุ้ง ผู้ซึ่งเป็นปรมาจารย์แห่งเพลงหมัดหงฉวนความเก่งกาจของเขานั้นเป็นที่ยอมรับและสืบทอดวิชามาจนถึงทุกวันนี้ ภายในตัวคนคนเดียวหวงเฟยหง เป็นที่ยกย่องทั้งในด้านจอมยุทธผู้ผดุงคุณธรรม ว่ากันว่า ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่โดนรังแกโดยไม่เป็นธรรม เป็นครูมวยผู้ได้รับความเคารพนับถือ เป็นหมอผู้มีใจโอบอ้อมเมตตา เป็นนักเชิดสิงโตผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้รักชาติที่มีอุดมการณ์สูงส่ง

ศิษย์เอกของหวงเฟยหงประกอบด้วย “เหลียงคุน” เชี่ยวชาญท่ายืนคร่อมม้าที่มั่นคงจน “ประทับรอยเท้าบนพื้นปูน” ได้ทุกย่างก้าว “หลินซีหลง” หรือหลัมไซหวิง (พ.ศ.2404-2486) ฉายา “พ่อค้าหมู” ก่อนหน้านี้เคยเรียนมวยจากที่อื่น แล้วละทิ้งวิชาเหล่านั้นมาเรียนกับหวงเฟยหง จนเขากลายเป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา เขาเขียนหนังสือมากมายเกี่ยวกับกังฟู และใช้เวลาส่วนใหญ่ทั้งชีวิตกับการฟื้นฟูมวยสกุลหงให้เป็นรูปแบบในช่วงเปลี่ยนยุคสมัย ด้วยการอุทิศตนเช่นนี้เอง มวยสกุลหงจึงยังคงแพร่หลายอยู่ในภาคใต้ของจีน และในฮ่องกงมาจนถึงทุกวันนี้ “หลินซีหลง” หรือหลัมไซหวิง เป็นคนที่มีลูกศิษย์มาก และเขียนหนังสือถึงสามเล่ม คือ “กงจี่ฟู่ฮู่ฉวน” (กงจี่ฟุ๊กฝูควิ่น) หรือหมัดเสือ “ฮูเฮ่อ ชวงสิงฉวน” (ฟู่ฮ๊อกเสียงหยิงควิ่น) หรือมวยเสือกระเรียนและ “เที๊ยะเซี่ยฉวน” (ทิตซิ่นควิ่น) หรือหมัดเหล็กเส้น ตำราทั้งสามเล่มนี้กลายเป็นตำรามาตรฐานของมวยสกุลหงในปัจจุบัน และทำให้ชื่อเสียงของมวยสกุลหงแพร่หลายต่อไปเป็นวงกว้าง หลินซีหลงหรือหลัมไซหวิง มีลูกศิษย์สืบสายมากที่สุดในบรรดาลูกศิษย์ของหวงเฟยหง

อาจารย์ Lam Wing Kit จากสมาคมจิงอู่ฮ่องกง เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่สอนกังฟูให้อาจารย์ Yap Giok Leong ด้วย อาจารย์ Yap Giok Leong จากสมาคมจิงอู่ สิงคโปร์เป็นผู้ถ่ายทอดเพลงมวยเหมยฮัวหรือ Hung Gar Mui Fa Kuen (มวยสกุลหง) ให้ผม อาจารย์ Lam Wing Kit ฝึกกังฟูตั้งแต่เด็ก ท่านเริ่มฝึกมวยฮุงกาจากอาจารย์ Han Kai (Han Kai เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ “หลินซีหลง” หรือหลัมไซหวิง (พ.ศ.2404-2486) ฉายา “พ่อค้าหมู” ศิษย์มวยฮุงกา หรือหมัดสกุลหงจากปรมาจารย์หวงเฟยหง) อาจารย์ Lam Wing Kit ท่านเป็นอาจารย์ฝึกสอนศิลปะการต่อสู้แบบจีนโบราณ สอนทั้งมวยไท่เก๊ก, มวยฮุงกา, มวยหวิงชุน, มวยตั๊กแตน, มวยลิง, มวยกรงเล็บนกอินทรีและอีกหลายสไตล์ อาจารย์ Lam Wing Kit ยังเป็นโค้ชของชมรมศิลปะการต่อสู้ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 และสโมสรอื่นๆ อีก 4 แห่งในฮ่องกง ท่านยังเขียนหนังสือทั้งมวยหวิงชุน, มวยตั๊กแตน, มวยกรงเล็บนกอินทรีและหนังสือมวยอีกหลายสไตล์ด้วย

อาจารย์ Lam Wing Kit แนะนำกังฟูทั้งมวยตั๊กแตนใต้ มวยฮุงกา “เที๊ยะเซี่ยฉวน” (ทิตซิ่นควิ่น) หรือหมัดเหล็กเส้น อีกทั้งมวยหวิงชุน และไท่เก๊กเพิ่มเติมให้ผม

กระบวนท่ามวยสกุลหง มวยเหมยฮัวหรือ Hung Gar Mui Fa Kuen และหมัดเที๊ยะเซี่ยฉวน (ทิตซิ่นควิ่น) หรือหมัดเหล็กเส้น ช่วยทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นและข้อต่อตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเกิดความแข็งแรง ลักษณะและท่วงท่าในการร่ายรำจะมุ่งเน้นไปที่ความแข็งแรงของเอ็นกล้ามเนื้อและกระดูกเป็นหลัก มีจุดเด่นอยู่ที่รูปแบบการร่ายรำที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพละกำลังแขนและฐานม้าที่มั่นคง การได้รำเพลงมวยหมัดสกุลหงที่รับถ่ายทอดมาจากวีรบุรุษกังฟูหวงเฟยหง ผ่านมายัง หลั่มไซวิงผู้ฟื้นฟูมวยสกุลหงให้เป็นรูปแบบในช่วงเปลี่ยนยุคสมัย และถ่ายทอดต่อลงมาอีกจนถึงเราเมื่อได้รำก็เกิดความภาคภูมิและอิ่มเอมใจ

บทความและข่าวสารอื่นๆ

ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
"ไอกิโด" เขียนคำ "คิ" ในแบบตัวอักษรดั้งเดิม
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไชยา (Muay Chaiya)
มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไทย (Muay thai)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
คาราเต้ (Karate) ศิลปะผสมผสานเสริมร่างกายผนึกจิตใจ
คาราเต้ (ญี่ปุ่น: 空手; โรมาจิ: karate; ทับศัพท์: คะระเตะ) หรือ คาราเต้โด (ญี่ปุ่น: 空手道; โรมาจิ: karat...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คืออะไร? 
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) เป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีความเคลื่อนไหวและน่าสนใ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ยูโด (Judo) คืออะไร?
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิ...
Before you continue to use Taifudo Academy
We use required cookies for site navigation, purchasing, improving your browsing experience to:
  • Provide you with services described on the Sites, general administrative and performance functions, and support services;
  • Operate the Sites and verify your identity when you sign in to any of our Sites;
  • Inform you about company news and give updates on our services;
  • Carry out technical analysis to determine how to improve the Sites and services we provide;
  • Track outages and protect against spam and fraud.
If you choose to “Accept all,” we will also use cookies and data to:
  • Improve site performance;
  • Deliver and measure the effectiveness of ads;
  • Show personalized content and ads, depending on your settings.
You can always change your browser settings and other ways to reject cookies. To learn more, please visit www.allaboutcookies.org.