เกี่ยวกับสายมวยยิปคินหวิงชุน (หวิงชุนเรือแดง)
รวมบทความเรื่อง “ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น”
- “ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 1 “ผู้ก่อตั้ง”
- “ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 2 “อาจารย์จากเรือแดง”
- “ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 3 “DNA ของมวยยิปกิ่นหวิงชุน”
————–รวบรวมโดย เชาๆ หมัดทศพืช (วันที่ 28-29 เมษายน พ.ศ.2558)————–
“ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 1 “ผู้ก่อตั้ง” (Yip Kin Wing Chun ; 葉堅詠春拳的历史)
ผู้ก่อตั้งยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น (葉堅詠春拳) ได้แก่ ปรมาจารย์ ยิปกิ่น (葉堅) ท่านเกิดเมื่อ ค.ศ.1883 ช่วงปลายราชวงศ์ชิง ช่วงวัยเยาว์อาศัยอยู่ที่หมู่บบ้านเล็กๆ ชื่อ หย่าฮู (鸦胡) หลังจากนั้นได้ย้ายตามครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเฮิงกางโต๋ว (横抗头) ในกวงตงไป่หยุนซาน (白云山) กิ่งอำเภอเรินฮั่ว (仁和) ในประเทศจีนตอนใต้
ค.ศ.1918 เมื่ออายุ 35 อาจารย์ยิปได้ย้ายมาอยู่มาลายา (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) โดยได้เดินทางมากับ “เรือแดง” ของคณะแสดงงิ้วที่เดินทางมาเปิดการแสดงที่สิงคโปร์ ปีนัง และมะละกา (ปัจจุบัน มีนักแสดงงิ้วมาตั้งรกรากในหลายรัฐของมาเลเซีย)
อาจารย์ยิปได้มาตั้งรกรากอยู่ที่ถนนซันไจ้ ในรัฐสะลังงอของประเทศมาลายา และเข้าทำงานในบริษัททำเหมือง
ชื่อเสียงของอาจารย์ยิปเป็นที่โด่งดังในกลุ่มนักเลงโพ้นทะเลเป็นอย่างมากจากฝีมือการเคลื่อนไหวที่คล่องแคล่ว (หมายถึงวิชามวย) และวิชาพลอง
เมื่ออายุ 43 ปี เขาได้ติดต่อไปยังบรรดาพรรคพวกของเขาและเปิดสำนักมวยเพื่อถ่ายทอดความรู้ของเขาให้คงอยู่
สำนักมวยแห่งแรกชื่อ “เหลียนฮัวตั่ง” (Liánhuā táng; 莲花堂 หรือโลตัสฮอล ซึ่งตั้งอยู่หลังสมาคมกว่างสี ที่ตั้งอยู่ถนนเปตาลิง ที่เมืองปูดู ในกรุงกัวลาลัมปอร์
ที่สำนักแห่งนี้ เชื่อว่่าอาจารย์ยิปกิ่นได้ถ่ายทอดวิชามวยของเขา และได้พัฒนาวิธีการสอนให้ง่ายต่อการถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ และเรียกมันว่า “หวิงชุน” จนเป็นที่มาของวิชา “ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” (葉堅詠春拳)
-จบ-
หมายเหตุ หวิงชุนไม่ได้เป็นแค่ชื่อวิชามวยครับ
“ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 2 “อาจารย์จากเรือแดง” (Yip Kin Wing Chun ; 葉堅詠春拳的历史)
ภายหลังที่อาจารย์ยิปกินสอนได้ราว 42 ปี อาจารย์ยิปได้เสียชีวิตลงใน ค.ศ.1968 สิริอายุรวม 85 ปี
อาจารย์ยิปมีบุตร 4 คน ชาย 3 หญิง 1 ทุกคนล้วนแต่เรียนหวิงชุนควิ่น (葉堅詠春拳) จากอาจารย์ยิปทั้งสิ้น
ผู้สืบทอดรุ่นต่อมาหลังยิปกิ่นตาย คือ “ยิปกู่น” (叶贯 )
รุ่นสาม(ปัจจุบัน) คือ “ยิปฟุ๊กช่อย” (葉福财)
“อาจารย์ของยิปกิ่น” ยิปกิ่นเรียนมวยจากอาจารย์มีชื่อจากจีน 4 ท่าน ได้แก่
- อาจารย์โส่ไค่หมิง (苏凯明) เรียนเชิดสิงโต (狮舞; Shī wǔ)
- อาจารย์ยิปฮุงเสิง (叶行胜) เรียนหยัมเหยียงปากัวก๋วน (陰陽八卦棍; Yīnyáng bāguà gùn) และมีดผีเสื้อคู่ (蝴蝶刀; Húdié dāo)
- อาจารย์โชเฟยฮูง (曹飞鸿) เรียนหยางเหมยปัง หรือพลองดอกพลัม(楊梅棒; Yángméi bàng) ตุ้มดาวตก (飛鉈; Fēi shī) กระบองสามท่อน (三節棍; Sānjié gùn) ดาบใบหลิวคู่ (柳葉雙刀; Liǔyè shuāng dāo) และม้านั่ง (横頭櫈; Héng tóu dèng)
- อาจารย์ “ยิกกั่ม” (翼金) แห่งคณะงิ้ว “เรือแดง” เรียนแส้เหล็ก 5 7 และ 9 ท่อน (五、七、九節鞭 ; Wǔ, qī, jiǔ jié biān) กว่านเต้า (春秋大刀, 關刀; Chūnqiū dàdāo, Guān dāo) หอกเหมยฮัว (梅花槍; Méihuā qiāng) สามง่ามปราบเสือ (伏虎大耙; Fú hǔ dà bà) และดาบโล่ไม้ไผ่ (单刀籐牌; Dāndāo téngpái)
-จบ-

“ยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น” ตอนที่ 3 (ตอนจบ) “DNA ของมวยยิปกิ่นหวิงชุน” The Yip Kin Wing Chun System (练习方式)
“แก่นแท้ของมวยยิปกิ่นหวิงชุน” มวยจีนทุกสายมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน เวลาสำแดงออก ก็จะแตกต่างกัน เอกลักษณ์ของมวยเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ ความเสียสละ และเลือดเนื้อของบรรพชน
ยิปกิ่นหวิงชุนก็เป็นเช่นนั้น
มวยที่เป็นเอกลักษณ์ หรือ DNA ของยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น คือ “มวยสี่เส้น ห้าอาวุธ”
“มวยสี่เส้น” ได้แก่
- เสี่ยวฮัวฉวน (小花拳; Xiǎohuā quán) เป็นเส้นมวยชุดแรกของยิปกิ่นหวิงชุนเป็นชุดมวยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ชุดมวยประกอบด้วยมือ ลำตัว การก้าวและท่ายืน ชุดมวยนี้เป็นรากฐานให้กับ ชุดมวยอื่นๆ ในสายยิปกิ่น เอกลักษณ์ของชุดมวยนี้ คือ มันแตกออกได้ 7 ส่วน แต่ละส่วนจะมีการก้าว โครงสร้างและการฝึกพลังที่แตกต่างกัน เรียกว่าฝึกหนึ่งเส้นได้เจ็ดอย่างมวยเส้นนี้เป็นเสมือนแนวทางให้ผู้ฝึกเข้าถึงแก่นแท้ของมวยยิปกิ่นหวิงชุน
- ต้าฮัวฉวน (大花拳; Dà huā quán) มวยเส้นสองนี้เป็นการต่อยอดจากมวยเส้นแรก มวยเส้นนี้มีการเคลื่อนไหวเรียบง่าย และมีเทคนิคใหม่ที่ต่อยอดจากมวยเส้นแรก เอกลักษณ์ของมวยเส้นนี้อยู่ที่การเสริมสร้าง พลกำลัง และความแข็งแกร่งของร่างกาย เพื่อเตรียมพร้อมที่จะต่อสู้ในสถานการณ์จริง และโต้ตอบคู่ต่อสู้ในมุมที่แทบเป็นไปไม่ได้ เช่น บนพื้น หรือเมือผู้ฝึกยินในมุมบิดของร่างกาย (คำว่าบนพื้นไม่ได้หมายความว่านอนสู้บนพื้น แต่หมายถึงตอบโต้เมื่ออยู่ในมุมที่เสียเปรียบ เช่น ล้มลงบนพื้น – ผู้เขียน)
- มู่เหร่นจวง (木人樁l; Mù rén zhuāng) หรือมวยเส้นตีหุ่นไม้ การฝึกมวยเส้นนี้เป็นการจำลองสถานการณ์ ในการโต้ตอบคู่ต่อสู้ พลังที่ใช้ (แข็งอ่อนสมดุล) และการก้าวเท้า การฝึกหุ่นไม้มันบอกได้ข้อหนึ่งว่า ผู้ฝึกมีฝีมือถึงระดับหรือไม่ หุ่นไม้มีสองแขน หนึ่งขา ผู้ฝึกครองเส้นศูนย์กลาง ป้องกันตั้งแต่คอหอยจนถึงท้องน้อย
- มวยเส้นมือเกาะติด (ไม่ทราบภาษาจีน) ในชั้นต้น เป็นการฝึกมือสะพาน (ภาษามวย) เป็นท่าฝึกเข้าคู่มือเปล่า และเตรียมพร้อมสำหรับฝึกต่อสู้อิสระ ผู้ฝึกจะฝึกทั้งจู่โจมและป้องกันซึ่งกันและกัน ในระดับสูงขึ้นไป ผู้ฝึกฝ่ายจู่โจม (คู่ต่อสู้สมมติ) จะแปรเปลี่ยนท่าจู่โจมโดยอิสระ (หมายถึงการโจมตีที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบ) ส่วนฝ่ายรับจะต้องแปรเปลี่ยน การรับตามพลังของการจู่โจมของฝ่ายรุก โดยใช้การเคลื่อนไหว และพลังที่น้อยที่สุด
“ห้าอาวุธ” ได้แก่
- พลองหยางเหมยปั้ง (楊梅棒; Yángméi bàng) พลองนี้เป็นอาวุธพื้นฐานที่ผู้ฝึกยิปกิ่นหวิงชุนควิ่นเชื่อกันว่าเป็นพลองที่แท้จริงของ (ระบบ) หวิงชุนและสืบทอดมาแต่ดั้งเดิมตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง (หวิงชุนไม่ใช่ชื่อวิชา
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในบทความก่อน) พลองนี้จับด้วยสองมือและมีท่าที่สัมพันธ์กับเส้นมวยเสี่ยวฮัวฉวน (เส้นหนึ่ง) และต้าฮัวฉวน(เส้นสอง) เรียกว่า “เส้นมวยเป็นเส้นเดียวกันกับท่าอาวุธ” ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้หลักการ “เหลียนซีไท่ต้า” หรือ “รุกในรับ รับในรุก” - พลองหกแต้มครึ่ง (六點半棍; Liù diǎn bàn gùn) พลองนี้มีหกท่าครึ่ง สำแดงท่าทางในหกทิศ(ทาง)ครึ่ง
- พลองหยินหยังปากัวกุ้น (陰陽八卦棍; Yīnyáng bāguà gùn) พลองนี้คล้ายกับพลองหกแต้มครึ่งแต่แตกต่างในการรุกและรับในแปดทิศและการก้าวเท้า
- พลองเข้าคู่หยังเหมยปังตุ่ยชั้ย (楊梅棒對拆; Yángméi bàng duì chāi) เป็นเส้นพลองที่ฝึกต่อจากพลองหกแต้มครึ่งโดยเป็นเส้นประยุกต์การใช้เส้นพลองหยางเหมยปั้ง
- พลองเข้าคู่ลิ่วเดี๋ยนปันกุ้นตุ้ยชั้ยหรือพลองเข้าคู่หกแต้มครึ่ง (六點半棍對拆; Liù diǎn bàn gùn duì chāi) เป็นเส้นพลองที่ฝึกต่อจากพลองหยินหยังปากัวกุ้น เพื่อฝึกการใช้พลองหกแต้มครึ่งในสถานการณ์จริง
– จบ-

ภาพประกอบอาจารย์ Chiwin Taifudo (คนยืน) แห่งไทฟูโด หาดใหญ่
ถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์ยิปฟุ๊กช่อยเจ้าสำนักยิปกิ่นหวิงชุนควิ่น ในฐานะที่อาจารย์ชีวินเป็นทายาทคนสุดท้ายที่ยกน้ำชา เขียนเทียบสายวิชาและเป็นศิษย์เพียงคนเดียวในประเทศไทย