บทที่ 13 ไท่เก๊ก (Tai Chi) สายเจิ้นมั่นชิง

บทที่ 13 ไท่เก๊ก (Tai Chi) สายเจิ้นมั่นชิง
หนังสือ : ศาสตร์แห่งไทฟูโด (Taifudo Academy)

อาจารย์ประมวล ภูมิอมร หรืออาจารย์โควจุนฮุย ท่านเป็นหมอรักษาด้านศาสตร์จีนโบราณ จัดกระดูก ฝังเข็ม ครอบแก้วและท่านยังเป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์โค้ว สำนักไท่เก๊กแห่งวัดสัมพันธวงศ์หรือวัดเกาะ ย่านเยาวราชกรุงเทพฯ อาจารย์โคว จุน ฮุย เรียนไท่เก๊กสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงกับอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าศิษย์เอกของอาจารย์เจิ้งมั่นชิง ที่นำไท่เก๊กมาเผยแพร่ในประเทศไทย ในประวัติอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งได้บันทึกไว้ว่า “อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งเป็นชาวไต้หวันมีฝีมือทางมวยสูงโดยเฉพาะท่าเตะกวาด สามารถกระโดดเตะได้สูง และต่อยหนักรวดเร็วดุจสายฟ้า และยังเชี่ยวชาญวิชาเสื้อคลุมเหล็ก และการผลักมือของมวยไท่เก๊กจนมีชื่อเสียงอย่างมาก” เมื่อท่านย้ายมาพำนักอยู่ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ท่านก็สร้างชื่อเสียงด้านการผลักมือของมวยไท่เก๊กไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนได้รับฉายาว่า “ไท่จี๋ฉวนจากปีนัง” ท่านเดินทางจากประเทศไต้หวันมายังรัฐปีนังเพราะได้รับเชิญ ให้มาสอนที่สมาคมปีนังจิงอู่ ท่านมาจากครอบครัวที่สอนมวยจีนมาหลายชั่วอายุคน บิดาของท่านคือ เอี้ยบเหลียนฟางเป็นผู้นำสมาคมศิลปะป้องกันตัวในมลฑลฟูเจี้ยน

ในยุคนั้นผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้จากไต้หวันผู้มีเชื่อเสียงหนึ่งในสามคน ได้แก่ ฮวงสิ่งเสียน (Huang Hsing Hsian) อู่เกาจง (Wu GuoZhong) และอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง ได้เรียนวิชามวยไท่เก๊กจากอาจารย์เจิ้งมั่นชิงนั้นก็เนื่องจากว่า แต่เดิมนั้นอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งก็เชี่ยวชาญมวยอยู่แล้ว แต่กลับเป็นโรคหัวใจ และโรคกระเพาะเรื้อรังรักษาอย่างไรก็ไม่หายดี จึงมาพบอาจารย์เจิ้งมั่นชิงเพื่อรักษาและฝากตัวเป็นศิษย์ของอาจารย์เจิ้งมั่นชิงจนกลายเป็นศิษย์สายใน

ในช่วงเวลา อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งอาศัยอยู่ที่ไต้หวันนั้น ท่านมีชื่อเสียงและมีลูกศิษย์มากมายอยู่แล้ว พอท่านย้ายมาปีนัง ชื่อเสียงในวงการมวยไท่เก๊กก็ติดตามตัวท่านมาด้วย จึงมีคนมาขอเป็นศิษย์ และหนึ่งในนั้นเป็นนักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดของปีนัง ก็เป็นศิษย์คนหนึ่งของท่านด้วย จึงทำให้ท่านเป็นที่รู้จักและยิ่งมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น

ในทัศนะของอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง มวยไท่เก๊กมีคุณสองด้าน ด้านหนึ่งคือต่อสู้ ด้านที่สองคือเป็นหนทางในการบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่ท่านเป็นอยู่ คือโรคหัวใจ ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการหอบในวัณโรคสำหรับผู้ป่วย รวมไปถึงช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยหลายอย่าง ทำให้การรักษาได้ผลดีกับผู้ป่วยทุกประเภทการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยมวยไท่เก๊กของท่านอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งมีชื่อเสียงมาก ทำให้มีคนจำนวนมากสนใจและเข้ามาเรียนกับท่าน โดยตั้งใจฝึกฝนอย่างหนักจนทำให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงและมีสุขภาพที่ดีขึ้น อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างไต้หวันและรัฐปีนัง เพราะท่านไม่ได้ถูกเชิญให้สอนเฉพาะในปีนังจิงอู่เท่านั้น แต่ยังถูกเชิญให้ไปสอนในสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย

ก่อนกลับไต้หวันในปี พ.ศ.2507 อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งถูกเชิญให้มาสอนไท่เก๊กที่กรุงเทพฯ ด้วย ที่กรุงเทพฯท่านมีศิษย์เอกซึ่งเป็นหมอยาจีนชื่อว่าโควจุนฮุย (อาจารย์ประมวล ภูมิอมร) อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งพำนักที่บ้านของโควจุนฮุย ซึ่งอยู่บริเวณแถววัดสัมพันธวงศ์ ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ

อาจารย์โคว จุน ฮุย เล่าว่าท่านเรียนไท่เก๊กสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยมาก่อน ต่อมาเมื่อท่านมาเรียนไท่เก๊กของสายอาจารย์เจิ้ง มั่นชิง ท่านได้ยกน้ำชาสืบสายไท่เก๊กตระกูลหยางทางสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง ท่ารำที่อาจารย์โค้วสอนให้ผมและลูกศิษย์ของท่านเป็นท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่า ซึ่งท่านเรียนกับอาจารย์ต่งฮูหลิง เป็นท่ารำมวยไท่เก๊กตระกูลหยางสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย หรือตั้งเอ็งเกี๊ยก (1898-1961) อาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นอีกหนึ่งในศิษย์เอกของท่านหยางเฉินฝู่ อาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นผู้ที่มาเผยแพร่มวยไท่เก๊กตระกูลหยาง ในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 ก่อนจะให้บุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่งฮูหลิง มาสอนมวยในเมืองไทยในปีต่อมา

ในปี พ.ศ.2507 อาจารย์โค้วจึงเชิญอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งมาเผยแพร่ไท่เก๊กในประเทศไทยซึ่งท่านเป็นหนึ่งในห้าศิษย์เอกของอาจารย์เจิ้งมั่นชิง อาจารย์เอี้ยบ เสี่ยวเท่ง ถ่ายทอดการผลักมือและลมปราณให้อาจารย์โค้ว แต่อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งไม่ได้ถ่ายทอดท่ารำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ่งมั่นชิงเพราะเห็นว่าอาจารย์โค้วรำมวยไท่เก๊กท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่าสาย อาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นอยู่แล้ว เพื่อถือเป็นการให้เกียรติสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยด้วย ทำนองว่าไม่สอนท่ารำทับสายกัน

ช่วงบั้นปลายของอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งท่านยังคงพำนักและสอนไท่เก๊กอยู่ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 16 เดือนมิถุนายน พ.ศ 2518 ท่านเสียชีวิตลงที่บ้านอาจารย์โควจุนฮุย หลังจากเผาศพท่านแล้ว อาจารย์โควจุนฮุย ก็ได้เก็บอัฐิไว้ และแบ่งส่งกลับไปยังญาติของท่านที่ไต้หวันจึงนับได้ว่าอาจารย์โควจุนฮุย เป็นผู้สืบสายตรงจากปรมาจารย์หยางเฉินฝู่รุ่นที่ 6 สายเจิ้งมั่นชิงรุ่นที่ 3 นั่นเอง ประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2534 อาจารย์โค้วจัดพิธียกน้ำชาที่บ้านท่านที่เยาวราช โดยครั้งนั้นมีศิษย์เข้าร่วมยกน้ำชารวมผมด้วย ทั้งหมดสี่คนหลังจากผมได้ทำพิธียกน้ำชาแล้วเดือนถัดมาผมจึงขอลาอาจารย์โค้วเพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น

เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 ผมได้ฝึกงานที่ Hotel Leopalace เมืองชิโมซูวะ (Shimosuwa) นครนาโงยะ (Nagoya) ประเทศญี่ปุ่น ผมเดินเท้าจากที่พักไปทำงานไป-กลับทุกวัน วันละราว 3 กิโลเมตร ช่วงนั้นอากาศเย็นสบายดีอุณหภูมิราว 20 องศา คุณโอซากิ มาซาทากะ (OZAKI MAZATAKA) เจ้านายผมท่านเคยทำงานที่โรงแรมในจังหวัดภูเก็ต ท่านมีภรรยาเป็นคนไทยและสามารถพูดไทยได้

โชคดีมากที่ผมได้มาฝึกทำงานด้านการบริการในโรงแรมแห่งนี้กับท่าน ทุกวันหลังเลิกงานคุณโอซากิจะพาผมไปสัมผัสวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น

เริ่มตั้งแต่ทานปลาดิบ เพราะญี่ปุ่นล้อมรอบไปด้วยทะเล จึงหาอาหารทะเลที่มีความสดใหม่มารับประทานได้ไม่ยาก เมื่อจับปลาขึ้นมาจากทะเลแล้ว ก็จะนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ และรับประทานแบบดิบๆ การที่จะรับประทานซาชิมิให้อร่อยได้นั้น สิ่งสำคัญ ก็คือความสดใหม่ของวัตถุดิบ และการจัดเตรียมวัตถุดิบตามฤดูกาล เนื่องจากเป็นอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ฉะนั้นในเรื่องของความสะอาดและความสดใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ซาซิมิบนโต๊ะหน้าตาน่าทานมาก ปลาหมึกสดๆ หนวดยังกระดุกกระดิกอยู่เลย เมื่อผมลองชิมโดยจิ้มกับวาซาบิ ทันใดนั้นความจี๊ดขึ้นสมองน้ำมูกน้ำตาพาลจะไหล การทานซาซิมิครั้งแรกคำแรกของผมบอกได้เลยว่า พะอืด พะอม จนต้องไปแอบอาเจียนในห้องน้ำ ยังมีตอนสั่งเครื่องดื่มอีก ผมไม่รู้ว่ามาร่วมทานอาหารกับผู้ใหญ่จะต้องวางตัวประมาณไหนดี ผมจึงเลือกสั่งนมครับ ทุกคนบนโต๊ะหันมามองหน้าผมพร้อมกัน ค่ำนั้นไม่มีใครยกแก้วชนกับผมเลย นึกแล้วยังขำตัวเองทุกที เพราะต่อจากคืนนั้นผมไม่เคยได้สั่งนมอีกเลยแต่ได้กินทั้งเหล้าวิสกี้ สาเก และเบียร์ สามประสานทั้งสามแก้ววางอยู่ตรงหน้า คือถ้าใครยกแก้วไหนขึ้นมาชน ทุกคนก็ต้องยกเครื่องดื่มแบบเดียวกันชนและดื่ม และปัจจุบันนี้ปลาดิบซาซิมิกลายเป็นอาหารที่ผมชื่นชอบเอามากๆ

ออนเซน (温泉) (Onsen) วัฒนธรรมการอาบน้ำแร่ที่ประเทศญี่ปุ่นมีมาอย่างยาวนาน ซึ่งเรียกว่าเป็นชีวิตประจำวันของชาวญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ การแช่ออนเซนนั้นมีประโยชน์มากมายนับไม่ถ้วน เช่น ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ระบบการหมุนเวียนของเลือดดีขึ้น การบรรเทาอาการปวดเมื่อยต่างๆ และช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้อย่างดี ครั้งแรกที่ผมไปใช้บริการอาบน้ำแร่แช่ออนเซนผมได้ผ้ามา 3 อย่างคือ ยูกะตะชุดลำลองแบบญี่ปุ่น ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ และ ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก ตอนที่ผมต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดยูกะตะ ก็ต้องแก้ผ้าให้หมดเลย ถอดชุดยูกะตะออก เก็บเสื้อผ้า ข้าวของ และผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ ไว้ในล็อกเกอร์ เหลือติดมือไปแค่ ผ้าผืนน้อยกับร่างกายที่พร้อมจะแช่ออนเซน

เมื่อเข้าไปถึงด้านในส่วนของออนเซนจะมีที่อาบน้ำ โดยส่วนใหญ่จะมีเก้าอี้ตัวน้อยให้นั่งยองอาบน้ำสระผมให้สะอาด โดยใช้ผ้าผืนน้อยที่ติดตัวมาถูกตัวขัดขี้ไคลให้หมดและสามารถใช้สบู่ แชมพูหรือจะแปรงฟันก็ได้เลย วัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นไม่มีใครเขาเขินอายเวลาแช่ออนเซนกัน แต่ยังไงก็อย่าเสียมารยาทไปจ้องมองเขานานเกินไป เมื่ออาบน้ำสระผมเสร็จแล้ว ผมเดินเพื่อจะไปลงบ่อออนเซน ด้วยความเป็นคนไทยก็เป็นธรรมดาที่ย่อมมีความเคอะเขินที่ต้องเดินแก้ผ้าต่อหน้าผู้คน ผมจึงเดินแล้วใช้ผ้าผืนน้อยปิดความเป็นชายไปด้วย ทำให้มีคนสังเกตว่าผมน่าจะไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นเป็นแน่

ขณะที่ผมยืนอยู่ที่ข้างบ่อเพื่อจะเตรียมลงไป มีคนแกล้งกระตุกดึงผ้าผืนน้อยผมออก ด้วยความตกใจปนอายผมกระโดดลงบ่ออย่างรวดเร็ว โอ๊ยยยยยย! น้ำร้อนสุดจะทนผมแทบกระโดดกลับขึ้นจากบ่อในทันที ตัวผมตั้งแต่หน้าอกลงไปมีรอยแดงด้วยความร้อนที่ร่างกายไม่ทันได้ปรับตัว ผมได้ยินเสียงหัวเราะเบาๆ จากคนที่เห็น ปกติการลงบ่อออนเซนต้องค่อยๆ ย่อตัวลงไปทีละนิดจากระดับข้อเท้าก่อนแล้วไล่ขึ้นมาที่หัวเข่าจนมาถึงหน้าอกอย่าได้ลงพรวดทีเดียว ต้องให้ร่างกายปรับตัวก่อนเพราะน้ำค่อนข้างร้อน และอาจมีอาการไข้ขึ้นได้ สลับกับการไปอาบน้ำเย็นแล้วกลับมาแช่ออนเซนต่อสลับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจได้เลย การได้ออนเซนสำหรับผมบอกได้เลยว่าผมรู้สึกได้ถึงเลือดลมทะลวง สดชื่นกระปรี้กระเปร่าและสบายตัวมากๆ

เวลาว่างผมจะทบทวนมวยต่างๆ และฝึกท่ารำมวยคาราเต้บ้าง เมื่อคุณโอซากิมาเห็นก็เล่าว่าตระกูลท่านเองเป็นเชื้อสายซามูไรเก่า แต่เพราะท่านมีเพียงลูกสาวคนเดียวเลยไม่ได้ถ่ายทอดวิชาดาบซามูไรให้ ท่านเมตตาถ่ายทอดท่าดาบของตระกูลให้ผมไว้ได้ฝึก และต่อมาไม่นานทุกคนก็พากันเรียกผมว่าโอซากิจูเนียร์

คุณโอซากิ สอนผมว่าในการมาทำงานทุกวันให้วางปัญหาทุกอย่างไว้ที่บ้านให้เอาตัวกับหัวใจมาทำงาน ครั้งหนึ่งผมเคยยืนเหม่อหันหน้าออกไปนอกหน้าต่าง คุณโอซากิเรียกผมไปตักเตือนว่าให้ยืนหันหน้าไปยังลูกค้าเสมอเพื่อรอรับบริการให้ทันท่วงที ท่านเล่าว่าก่อนหน้าผมจะมามีคนไทยเคยมาทำงานที่นี่และก่อปัญหาเอาไว้ ทำให้คนไทยเสียชื่อมาก ท่านกำชับให้ผมตั้งใจทำงานและปฏิบัติตัวให้ดี คนญี่ปุ่นเน้นเรื่องการตรงต่อเวลา ทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สาย ผมจึงมุ่งมั่นและขยันตั้งใจทำงานจนมีเงินเก็บพอสมควร

ผมทำงานอยู่พักใหญ่ๆ จึงแจ้งขอลาล่วงหน้าในช่วงวันหยุดเพื่อไป เที่ยวเมืองโตเกียว อาจเป็นเพราะความมีน้ำใจคอยห่วงใย และชอบช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบบคนไทยที่ผมปฏิบัติกับทุกๆ คนที่นี่ ทำให้เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นต่างรวบรวมเงินใส่ซองให้ผมเพื่อสมทบทุนให้ผมได้ไปเที่ยวโตเกียวในช่วงวันหยุด คุณโอซากิบอกว่าไม่เคยมีใครได้เงินแบบผม นี่แสดงว่าทุกคนรักและเอ็นดูผมมาก ผมฟังแล้วตื้นตันใจรู้สึกมีความสุขมาก ผมชวนซาไกเพื่อนร่วมงานให้พาผมไปเที่ยวโตเกียวกัน และขอร้องให้ซาไกพาไปร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้

ร้านที่ผมแวะไปซื้อนั้นเมื่อมองเข้าไปจากเคาเตอร์หน้าร้าน ด้านในเป็นโรงฝึกเคนโด้ด้วย ผมอยากซื้อชุดฝึกและสายดำแบรนด์ Tokaido ไว้เพื่อใส่เวลาฝึกและสอนไทฟูโดตอนผมกลับมาที่เมืองไทย คนขายค่อนข้างแปลกใจที่ผมขอซื้อแบรนด์นี้เพราะราคาค่อนข้างสูง แต่ตอนที่ผมฝึกคาราเต้นั้นเป็นที่รู้กันว่าชุดฝึก และสายคาดเอวที่ถือได้ว่ามีคุณภาพดีคือแบรนด์ Tokaido ของญี่ปุ่น คนขายถามผมว่าจะให้ปักที่สายว่าอะไร ผมเขียนอักษรจีนให้ดูว่าปักอักษรจีน 卓遠輝 (Zhuō yuǎn huī) ชื่อผมและตามด้วย 太夫道 (Tàifū dào) คนขายเปิดสมุดที่วางอยู่ใกล้ๆ ดูว่า 太夫道 คือศิลปะการต่อสู้ของอะไรแต่เมื่อเปิดดูก็ไม่ได้มีบันทึกไว้คนขายเริ่มทำหน้างงๆ ผมจึงอธิบายว่า 太夫道 เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวที่ผมคิดค้นและตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ คนขายจึงขอให้ผมแสดงทักษะต่างๆที่มีให้ดู ผมสาธิตสารพัดทักษะทั้งท่ารำคาราเต้ ท่ากังฟู ทักษะการเข้าทุ่ม ออกทักษะมวยสากล มวยไทยทั้งหมัดเท้าเข่าศอก คนขายก็ยังทำหน้าครุ่นคิดหนักใส่ผม ก่อนที่ผมจะจนใจสุดท้ายผมเลยตัดสินใจรำท่ามวยไท่เก๊ก พอคนขายเห็นผมขึ้นท่าเริ่มรำไท่เก๊กก็อุทานว่า 太極拳 Taikyokuken จากนั้นสีหน้าคนขายก็เปลี่ยนเป็นชื่นชมยินดีแล้วตกลงขายชุด และสายดำปักอักษร 太夫道 พร้อมชื่อผมบนสายเส้นนั้นให้ผมทันที แต่กว่าผมจะได้ชุดและสายดำที่ปัก โดยทางร้านขอชื่อที่อยู่บบอกว่าปักเสร็จแล้วจะจัดส่งไปให้ เบ็ดเสร็จก็รออีกราวหนึ่งเดือนผมจึงได้รับของ นับได้ว่าสายดำไทฟูโดปักอักษร 太夫道 เส้นแรกกำเนิดที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ.2534 นั่นเอง

ปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2534 ผมกลับจากการฝึกงานด้านการโรงแรมที่ประเทศญี่ปุ่น อาการเจ็บร้าวบริเวณหลังก็กำเริบมากขึ้น ผมจึงพักรักษาตัวอยู่บ้านที่หาดใหญ่ เมื่อปรึกษาคุณหมอก็ได้รับคำแนะนำให้ผ่าตัด ผมไม่อยากผ่าตัด ผมทั้งทานและทั้งฉีดยาแก้ปวด ใส่เข็มขัดรัดหลัง (Back Belt) และหยุดฝึกมวยอาการเริ่มทุเลาลง ผมก็ไปทำงานด้านการโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ต ช่วงนั้นผมกลับมาฝึกมวยได้อีกแต่ฝึกแบบไม่เน้นการออกกำลัง และเน้นไปที่ฝึกรำไท่เก๊กเป็นหลักเพราะเกรงว่าอาการปวดหลังจะกำเริบอีก ผมบำบัดอาการปวดหลังด้วยการนวดฝ่าเท้าควบคู่ไปด้วย และ เมื่อผมมีอาการดีขึ้นจึงขอเรียนการนวดฝ่าเท้าจากอาจารย์ชงหมิงซิ่ง ชาวมาเลเซีย ซึ่งขณะนั้นการบำบัดด้วยการนวดฝ่าเท้ายังไม่เป็นรู้จักในหมู่คนไทยมากนัก

ในเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2534 มิสเตอร์อัลเฟรด ครอริซิโอ ชาวอิตาลี ซึ่งเคยศึกษาไท่เก๊กมาแล้ว มายืนดูผมรำไท่เก๊กอยู่หลายครั้ง จนเมื่อคุ้นเคยกันเขาจึงมาขอเล่นผลักมือกับผม ตอนนั้นผมสามารถฟังแรงและควบคุมการเคลื่อนไหวของเขาได้ทั้งหมด ทำให้เขาอยากขอเป็นศิษย์เพื่อฝึกไท่เก๊กกับผมเพิ่ม ผมจึงโทรศัพท์ไปปรึกษาอาจารย์โค้วว่าควรสอนหรือไม่อย่างไร เพราะคิดว่าตัวเองยังมีฝีมือไม่ดีพอ อาจารย์โค้วบอกให้ผมลองเริ่มสอนได้แล้วและท่านยังแนะนำด้วยว่า “เพราะถ้าลื้อได้สอน ลื้อก็จะเข้าใจในสิ่งที่อั๊วะสอน”

ในปี พ.ศ.2534 ผมขออนุญาตทำการสอนและอาจารย์โค้วรับทราบอนุญาตให้สอนได้ ซึ่งเวลานั้นผมมีอายุเพียง 21 ปี เมื่อผมจะรับศิษย์ผมจึงแจ้งอาจารย์โค้วว่าผมให้มิสเตอร์อัลเฟรดยกน้ำชาเพื่อเรียนมวยไท่เก๊กตามธรรมเนียมที่ผมรับสืบมาเช่นกันมิสเตอร์ อัลเฟรด ครอริซิโอ อายุ 42 ปี นับเป็นลูกศิษย์ไท่เก๊กคนแรกของผม เมื่อครั้งแรกที่มิสเตอร์อัลเฟรดพาผมไปพบภรรยาชาวไทยของเขา เธอถามว่ามิสเตอร์อัลเฟรดว่าผมอายุยังน้อยจะสอนได้หรือ มิสเตอร์อัลเฟรดได้ตอบภรรยาของตนว่า “มันไม่ได้อยู่ที่อายุ แต่อยู่ที่ความสามารถว่าสอนได้หรือไม่”

เดือนตุลาคม พ.ศ.2535 ผมมีโอกาสได้ไปอยู่ที่กรุงเทพฯอีกครั้ง และได้ไปฝึกมวยไท่เก๊กกับอาจารย์โค้วเพิ่ม ครั้งนี้อาจารย์โค้วให้ผมไปฝึกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ที่บ้านอาจารย์อีกหลังหนึ่ง ซึ่งอยู่แถววัดสัมพันธวงศ์ (วัดเกาะ) ที่เยาวราช อาจารย์โค้วบอกให้ผมต้องไปถึงบ้านท่านก่อนหกโมงเช้า หากวันไหนผมไปสายแม้แค่ห้านาที วันนั้นทั้งวัน อาจารย์โค้วจะไม่สอนอะไรและไม่พูดด้วย ผมสังเกตเห็นว่ากิจวัตรทุกเช้าของอาจารย์โค้วคือเดินลงมาจากชั้นบน เลือกไม้เท้า แล้วบ้วนปากด้วยชาร้อน และดื่มน้ำหนึ่งแก้ว ทุกวันเมื่อถึงบ้านอาจารย์หกโมงเช้า ผมจะเตรียมไม้เท้า เตรียมชาร้อนและน้ำดื่มและไปรอรับแกอยู่ที่หน้าบันไดชั้นล่าง ผมฝึกและอยู่กับอาจารย์ตลอดทั้งวัน จนถึงเวลาสามทุ่มผมจะส่งอาจารย์โค้วตรงหน้าบันไดชั้นล่าง เพื่อส่งอาจารย์โค้วเข้านอนจากนั้นผมก็นั่งรถเมล์กลับบ้านที่ซอยลาดพร้าว 95

วันหนึ่งอาจารย์โค้วถามผมว่า “ตอนนี้ลื้อทำร้ายคนได้แล้ว แต่ลื้อรักษาคนได้มั้ย” ได้ฟังแล้วผมจึงขอเรียนการรักษาแบบแผนจีน ควบคู่กับการฝึกมวยไท่เก๊กจากอาจารย์โค้วไปด้วย ผมฝึกต่อเนื่องอยู่ราวสามเดือน
อาจารย์โค้วบอกให้ผมกลับไปอยู่ที่ภูเก็ต เปิดรักษาแบบแผนจีนโบราณและสอนไท่เก๊กไปด้วย ผมกลับมาอยู่ภูเก็ตครั้งนี้ผมไม่ทำงานด้านการโรงแรมแล้ว แต่มาเช่าพื้นที่ของโรงแรมรับบำบัดนวดฝ่าเท้าและรักษาแบบแผนจีนโบราณ ผมยังคงฝึกไท่เก๊กอย่างสม่ำเสมอและยังสอนไท่เก๊กมิสเตอร์อัลเฟรดอยู่ ผมจะโทรหาอาจารย์โค้วทุกวันพฤหัสซึ่งถือว่าเป็นวันครู เพื่อไต่ถามสารทุกข์สุกดิบและข้อสงสัยเกี่ยวกับมวยและการรักษา

ต้นปี พ.ศ.2537 ช่วงตรุษจีนอาจารย์โค้วมาหาผมที่ภูเก็ต ท่านอนุญาตให้ผมนำภาพทั้งหมดของอาจารย์เจิ้งมั่นชิง อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่ง และภาพของท่านที่ท่านมอบไว้ให้ก่อนหน้านี้มาติดไว้เพื่อแสดงการสืบสายมวยตามธรรมเนียม ให้เปิดเป็นสำนักสอนศิษย์สืบวิชาต่อไปได้ อาจารย์โค้วบอกผมว่า “อาต๊ะลื้อเปิดสำนักมวยไว้นะอั๊วเกษียณตัวเองเมื่อไหร่ อั๊วะจะมาอยู่กะลื้อ” ผมตอบกลับไปแค่คำว่าครับ แต่ในใจรู้สึกดีใจมากที่อาจารย์บอกว่าจะมาอยู่ด้วย

อาจารย์โค้วมาหาผมที่ จ.ภูเก็ต ครั้งนี้ ท่านยังให้ผมพาแวะไปที่ จังหวัดพังงา ด้วย ท่านพักอยู่รวมประมาณ 5 วัน ทุกครั้งที่เจอกันอาจารย์โค้ว ท่านจะถามผมว่าลื้อจะฝึกอะไร และทุกครั้งผมก็จะบอกไปว่าให้อาจารย์ทบทวนท่ารำไท่เก๊ก เก๊กแรกและการใช้ท่าไท่เก๊กใน 8 ท่าหลักให้ เมื่ออาจารย์ฟังคำตอบท่านก็จะหัวเราะทุกครั้ง จริงๆ แล้วตอนนั้นผมเป็นคนที่รำมวยไท่เก๊กไม่สวยเอาซะเลย ในบรรดาลูกศิษย์ทั้งหมดที่ฝึกรำไท่เก๊กด้วยกัน ผมคนเดียวเลยที่มักจะโดนอาจารย์บ่นว่ารำมวยไม่สวย ดูแล้วทื่อๆ แข็งๆ ท่านกำชับไม่ให้ผมเล่นฝึกผลักมือและตีมวยกับศิษย์พี่น้องคนอื่นๆ แต่เวลาอาจารย์โค้วสอนการเล่นผลักมือ ท่านจะเรียกให้ผมเล่นมือด้วยเสมอ เนื่องจากผมฝึกมวยแข็งมาก่อน ผมจึงสามารถรับการตีกระแทกจากท่านได้เวลาท่านออกมวยและเข้าคู่ตีมวยเพื่อสาธิตให้ดู

อาจารย์โค้วมาภูเก็ตครั้งนี้ ผมโดนท่านตีปากแตกทุกวัน ปากแตกทุกมุมเรียกว่าแตกสี่มุมเมืองกันเลยทีเดียว เวลาอาจารย์โค้วได้เล่นมวยท่านดูมีความสุข นอกจากได้ฝึกมวยกันแล้ว อาจารย์โค้วยังให้ผมพาท่านไปยังวัดประชาสันติที่อยู่ในเมือง จังหวัดพังงา ที่ท่านเคยไปฝึกนั่งวิปัสสนากรรมฐาน และไปยังวัดถ้ำพบพระอาจารย์กรอย อาจารย์โค้วเล่าว่าท่านฝึกการรักษา และจัดกระดูกกับหลวงปู่ฤกษ์ ที่วัดถ้ำแห่งนี้

ก่อนกลับกรุงเทพฯ อาจารย์โค้วบอกให้ผมพาไปพบศิษย์พี่ของท่านชื่อฮ่องกีเต๊ก ซึ่งอาศัยอยู่แถวขนส่งในจังหวัดภูเก็ต อาจารย์โค้วแนะนำและฝากฝังผมกับอาจารย์ฮ่องกีเต๊กและท่านบอกให้ผมไปฝึกรำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่า สายอาจารย์เจิ่งมั่นชิงกับอาจารย์ฮ่องกีเต๊กด้วย และอาจารย์โค้วยังบอกอีกว่า ถ้าผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้ผมหาโอกาสไปเยี่ยมอาจารย์จกเซียกิมศิษย์พี่ของท่านอีกคนหนึ่งซึ่งอยู่ที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซียเพราะอยู่ไม่ไกลกันมากนัก หากนับตามสายมวยไท่เก๊กตระกูลหยางสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง อาจารย์จกเซียกิม และอาจารย์ฮ่องกีเต๊กทั้งสองท่านมีศักดิ์เป็นอาจารย์ลุงของผม หลังจากอาจารย์โค้วกลับกรุงเทพฯ ไปแล้ว ผมได้รับอนุญาตจากอาจารย์ลุงฮ่องกีเต๊กให้ฝึกรำมวยไท่เก๊ก 37 ท่ารำของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงโดยท่านให้ผมมารับแล้วพาไปฝึกที่เขารัง

ปลายปี พ.ศ.2537 ผมย้ายไปทำงานอยู่เชียงใหม่ และมีโอกาสกลับมาเยี่ยมบ้านที่ อ.หาดใหญ่ ในช่วงวันหยุดจึงไปเยี่ยมอาจารย์ลุงจกเซียกิมที่รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ตามที่อาจารย์โค้วได้เคยบอกไว้ ผมไปเยี่ยมอาจารย์ลุงจกเซียกิม ด้วยความรู้สึกว่าตัวเองมีฝีมือพอตัวล่ะอาจารย์โค้วถึงให้ไปหาอาจารย์ลุงจกเซียกิมได้

เมื่อได้พบกับอาจารย์ลุงจกเซียกิมท่านก็บอกให้ผมรำไท่เก๊กให้ดู ผมรำมวยไท่เก๊กท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่าสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยที่อาจารย์โค้วสอน แต่อาจารย์ลุงจกเซียกิมดูผมรำแค่ขึ้นท่านิดหน่อยจึงบอกให้พอ แล้วให้ผมมาเล่นผลักมือด้วย พอแตะมือกับอาจารย์ลุงจกเซียกิมเท่านั้นแหละ อารมณ์เหมือนแค่โดนสะกิดเบาๆ แต่ผมกลับเสียหลักและโดนถอนอย่างง่ายดาย ผมแตะมืออาจารย์ลุงจกเซียกิมสามครั้ง และโดนถอนแบบเดิมทั้งสามครั้ง อาจารย์ลุงจกเซียกิมถึงกับส่ายหัวและหยุดเล่น แล้วหันไปพูดกับลูกสาวท่านเป็นภาษาจีน ลูกสาวท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าเล่นกับอาจารย์โค้วของผมสนุกกว่า

ความรู้สึกตอนขามาผมรู้สึกใจฮึกเหิมดุจเสือแต่หลังจากแตะมือกับอาจารย์ลุงจกเซียกิมแล้วใจผมฝ่อเล็กลงเท่ามดเลยทีเดียวภายในรู้สึกเสียความมั่นใจอย่างบอกไม่ถูก อาจารย์ลุงจกเซียกิมบอกว่าถ้าผมจะรำ และเล่นแบบอาจารย์โค้ว ต้องเข้าใจการฟังแรงให้ได้มากกว่านี้อีกเพราะมีแต่อาจารย์โค้วเท่านั้นที่เล่นแบบนี้ได้ (ขาข้างขวาอาจารย์โค้วได้รับอุบัติเหตุต้องใส่ขาเทียม ท่ารำ และการเล่นผลักมือแบบอาจารย์โค้วจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะ) เนื่องจากอาจารย์โค้วไม่ได้รำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง นั้นหมายความว่าศิษย์ที่เรียนและสืบมาจากอาจารย์โค้ว จะรำมวยชุดใหญ่ 81 ท่ารำสายต่งอิงเจี๋ย ส่วนผมได้ท่ารำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง จากอาจารย์ลุงฮ่องกีเต็กที่ถ่ายทอดให้ อาจารย์ลุงจกเซียกิมแนะนำว่าให้ผมฝึกรำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง โดยฝึกรำแบบเคลื่อนไปนิ่งๆ แล้วท่านก็เข้าไปหยิบหนังสือและวิดีโอการฝึกมวยไท่เก๊กสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงมีรวมๆ ทั้งของอาจารย์ปู่ทวดเจิ้งมั่นชิง อาจารย์ปู่เอี้ยบเสี่ยวเท่งมาให้ผม

เมื่อกลับจากเยี่ยมอาจารย์ลุงจกเซียกิม ผมนำวิดีโอที่ได้มาก็อปปี้จำนวน 10 ม้วนผมรีบเดินทางจากหาดใหญ่กลับไปหาอาจารย์โค้วที่กรุงเทพฯ นำวิดีโอมอบให้อาจารย์โค้วและให้ศิษย์พี่น้องในสำนักคนอื่นๆ ด้วย แล้วจึงเดินทางกลับไปเชียงใหม่ ผมเล่าเรื่องที่อาจารย์ลุงจกเซียกิมแนะนำว่าให้ผมฝึกรำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงโดยฝึกรำแบบเคลื่อนนิ่งๆ ตามอย่างอาจารย์ปู่ทวดเจิ้งมั่นชิงอาจารย์ปู่เอี้ยบเสี่ยวเท่งและเล่าด้วยว่าอาจารย์ลุงจกเซียกิมบอกว่าถ้าผมจะรำและเล่นแบบอาจารย์โค้วต้องเข้าใจการฟังแรงให้ได้มากกว่านี้อีกเพราะท่ารำ และการเล่นผลักมือแบบอาจารย์โค้วมีเอกลักษณ์เฉพาะ มีแต่อาจารย์โค้วเท่านั้นที่เล่นแบบนี้ได้ อาจารย์โค้วได้ฟังแล้ว จึงบอกให้ผมทำตามคำแนะนำอาจารย์ลุงจกเซียกิม (อีกสิบกว่าปีต่อมาผมเพิ่งเข้าใจการถ่ายทอด และสืบสายมวยไท่เก๊กเพิ่มเติมตอนไปร่วมงานครบรอบ 85 ปี สมาคมจิงอู่สิงคโปร์ที่ประเทศสิงคโปร์ในปี พ.ศ.2545 มีอาจารย์รุ่นอาวุโสในมวยต่างๆ มากมายหลายประเทศมาร่วมงาน ผมแนะนำตัวว่าเป็นมวยไท่เก๊กสายเจิ้งมั่นชิง แต่กลับรำมวยไท่เก๊กแบบชุดใหญ่ 81 ท่ารำที่อาจารย์โค้วได้ถ่ายทอดให้ อาจารย์ Lam Wing Kit ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสมาจากฮ่องกง บอกว่าถ้าผมจะสืบสายไท่เก๊กสายเจิ้งมั่นชิง ต้องรำมวยไท่เก๊ก 37 ท่ารำ ที่เป็นของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงเพราะท่ารำที่ผมรำให้ดูนั้น เป็นท่ารำไท่เก๊กของสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย สิ่งที่ผมประสบเลยทำให้รู้ว่าการให้ความสำคัญกับสายมวย เส้นมวย ที่เป็นรูปลักษณ์ของสายที่มาจากอาจารย์นั้นๆ มีความสำคัญในการบอกที่มาของเรา)

ณ เชียงใหม่ปี พ.ศ.2537 หลังจากกลับจากเยี่ยมอาจารย์ลุงจกเซียกิมอารมณ์ผมเหมือนคนซังกะตาย เบื่อการฝึก ผมไม่รำมวย ไม่ฝึกมวย ไม่อยากฟังหรือไม่อยากคุยเรื่องมวยกะใครทั้งสิ้น ทำได้แต่นั่งดู นอนดูวิดีโอไท่เก๊กที่อาจารย์ลุงจกเซียกิมให้มา ผมดูๆ ๆ และดู ดูซ้ำไปซ้ำมาทุกวันเป็นเวลาถึงสามเดือน

และแล้วในช่วงเย็นของหน้าหนาววันหนึ่ง ผมเดินออกมายังลานหน้าบ้านมีหมอกหนายามเย็น ผมยืนนิ่งๆ ได้สักพัก ทันใดนั้นผมก็ค่อยๆ ยกมือแล้วเคลื่อนตัวรำมวยไท่เก๊กท่ารำ 37 ท่า การรำโดยที่หยุดฝึกมวยไปเกือบร่วมร้อยวันเพราะท้อแท้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เอาแต่นั่งดูวิดีโอแต่เหมือนเราได้เห็นการฝึกมวยจากรุ่นปรมาจารย์ ผมยังคงรำไปเรื่อยๆ ตามตัวและมือเท้าพาไป รู้สึกได้ถึงท่ารำที่ต่อเนื่องราวกับน้ำ ผมรำด้วยความรู้สึกที่ปลดปล่อยและมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก รำอยู่อย่างนี้ไม่ต่ำกว่า 5 รอบ มีไอความร้อนในร่างกายของผมกระทบกับหมอกหนาวยามเย็นเกิดเป็นวงหมอกรอบๆ ตัว จนคนในบ้านที่มองอยู่แซวเล่นว่ารำมวยจนเห็นเป็นออร่าแต่สำหรับผมคำว่า บรรเจิดน่าจะเหมาะที่สุด

บทความและข่าวสารอื่นๆ

ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
"ไอกิโด" เขียนคำ "คิ" ในแบบตัวอักษรดั้งเดิม
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไชยา (Muay Chaiya)
มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไทย (Muay thai)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
คาราเต้ (Karate) ศิลปะผสมผสานเสริมร่างกายผนึกจิตใจ
คาราเต้ (ญี่ปุ่น: 空手; โรมาจิ: karate; ทับศัพท์: คะระเตะ) หรือ คาราเต้โด (ญี่ปุ่น: 空手道; โรมาจิ: karat...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คืออะไร? 
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) เป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีความเคลื่อนไหวและน่าสนใ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ยูโด (Judo) คืออะไร?
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิ...
Before you continue to use Taifudo Academy
We use required cookies for site navigation, purchasing, improving your browsing experience to:
  • Provide you with services described on the Sites, general administrative and performance functions, and support services;
  • Operate the Sites and verify your identity when you sign in to any of our Sites;
  • Inform you about company news and give updates on our services;
  • Carry out technical analysis to determine how to improve the Sites and services we provide;
  • Track outages and protect against spam and fraud.
If you choose to “Accept all,” we will also use cookies and data to:
  • Improve site performance;
  • Deliver and measure the effectiveness of ads;
  • Show personalized content and ads, depending on your settings.
You can always change your browser settings and other ways to reject cookies. To learn more, please visit www.allaboutcookies.org.