บทที่ 12 ไท่เก๊ก (TaiChi) ตระกูลหยาง

บทที่ 12 ไท่เก๊ก (TaiChi) ตระกูลหยาง
หนังสือ : ศาสตร์แห่งไทฟูโด (Taifudo Academy)

เมื่อปี พ.ศ.2530 อาจารย์กฤช วรธำรงค์ หรือเฮียกฤช ที่สอนเทควันโดให้ เคยพาผมไปพบกับอาจารย์โค้ว (อาจารย์โควจุนฮุย หรือประมวล ภูมิอมร) เป็นครั้งแรกเพื่อรักษาอาการช้ำในจากการฝึกซ้อมที่ชมรมคาราเต้ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เฮียกฤชเล่าว่าอาจารย์โค้วเป็นหมอรักษาแบบแผนจีนโบราณ จัดกระดูก ฝังเข็ม ครอบแก้ว ท่านมีทักษะยุทธทั้งแข็งและอ่อน อีกทั้งยังเรียนรู้มวยไทยอีกด้วย จนกระทั่งเมื่ออาจารย์โค้ว ประสบอุบัติเหตุขาข้างขวาต้องใส่ขาเทียม ท่านจึงมุ่งไปที่มวยไท่เก๊กเป็นหลัก อาจารย์โคว จุน ฮุย เป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์โค้ว สำนักไท่เก๊กแห่งวัดสัมพันธวงศ์หรือวัดเกาะ ย่านเยาวราชกรุงเทพฯ เฮียกฤชเป็นหนึ่งในศิษย์รุ่นแรกๆ ที่เรียนมวย ไท่เก๊ก จากอาจารย์โค้ว

การพบกันครั้งแรกนั้นอาจารย์โค้วก็เพียงแค่ทำการรักษาอาการช้ำในให้ผมเท่านั้น อาจารย์โค้วพูดถึงเรื่องมวยหรือเรื่องมวยไท่เก๊กไม่มากนัก ในครั้งนั้นอาจารย์โค้ว พูดให้ไว้สามประโยคคือ “จริง จริง เท็จ เท็จ เท็จ เท็จ จริง จริง” “ทีจริงทำเป็นเล่น ทีเล่นทำให้เหมือนจริง” “ไม่เอาคือทำเขาถ้าเอาถูกเขาทำ” ซึ่งในเวลานั้นผมก็ไม่เข้าใจประโยคที่ให้มาทั้งหมด พอจะเข้าใจเพียงประโยคที่ว่า “ทีจริงทำเป็นเล่น ทีเล่น ทำให้เหมือนจริง” เท่านั้นว่าขณะฝึกซ้อมต้องซ้อมจริงจังแต่เวลาใช้จริงให้เหมือนเวลาฝึกซ้อมส่วนอีกสองประโยคนั้นก็ยังไม่มีความเข้าใจพอ

ในช่วงปี พ.ศ.2530 ผมได้พบอาจารย์โค้วอีกหลายครั้ง เพื่อเข้าไปซื้อยาแก้ช้ำในและยาทาแก้ช้ำ มีโอกาสได้คุยเรื่องมวยอยู่บ้าง แต่อาจารย์โค้วก็แทบไม่ได้ออกมวยไท่เก๊กเลย อาจจะมีสอนบ้างก็เป็นพื้นฐานมวยจีนเสียส่วนใหญ่ แต่ก็มิใช่มวยไท่เก๊ก โดยสรุปแล้วในช่วงเวลานั้นการได้พบกันก็เป็นเพียงการคุยเรื่องมวยต่างๆ และเรื่องสัพเพเหระเท่านั้น อาจารย์โค้วมิได้คิดจะสอนมวยไท่เก๊กให้ผมแต่อย่างใด หากไม่ได้เฮียกฤชผมก็คงไม่ได้รู้จักอาจารย์โค้วและก็คงไม่ได้คิดเรียน ไท่เก๊ก เป็นแน่ ตอนนั้นผมเป็นเด็กหนุ่มวัย 17 ปี ซึ่งเต็มไปด้วยพละกำลังกล้ามเนื้อจากการเล่นกีฬาและฝึกฝนวิชามวยแข็งต่างๆ จึงรู้สึกเฉยๆกับวิชามวยอ่อนอย่างไท่เก๊ก ด้วยผมยังไม่เชื่อว่า ไท่เก๊ก จะเป็นวิชาที่สามารถเป็นวิชาการต่อสู้ได้ ภาพที่คิดเกี่ยวกับมวยไท่เก๊กคือเป็นมวยที่รำช้าๆ เน้นเพื่อสุขภาพเท่านั้นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ.2531 แม้ผมจะเรียนที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่แล้ว แต่ผมก็ไปเข้าร่วมแข่งขันรายการไทยแลนด์โอเพ่นคาราเต้โด ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ในนามสมาชิกชมรมคาราเต้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพราะในปี พ.ศ.2530 ผมเคยเรียนและฝึกคาราเต้จากที่นั่น ในตอนที่ผมเข้าร่วมแข่งขันคาราเต้นั้นผมวัยย่าง 18 ปี ผมฟิตร่างกายด้วยตัวเองอย่างมีวินัย แต่ก่อนถึงวันแข่งขันเพียง 1 สัปดาห์ผมประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มเพราะหักหลบหมาที่วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถ ตัวผมลื่นไถลไปกับพื้นถนนทำให้ด้านข้างของแขนขวามีแผลถลอกเลือดซิบๆ เป็นแนวยาว ผมเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมแข่งขันกีฬาคาราเต้โด เมื่อถึงตอนแข่งขันผมตั้งการ์ดด้วยมือซ้ายเล็งไปยังคู่แข่งขัน จำต้องเอาแขนขวาไขว้หลังเป็นระยะๆ เกือบตลอดการแข่งขันยังเป็นแผลและมีอาการเจ็บอยู่ มีออกหมัดชกตรงด้วยหมัดขวาบ้างในจังหวะที่มีโอกาสทำคะแนน แต่ไม่ใช้ในการบล็อกอาวุธคู่ต่อสู้ ผมจำไม่ได้ว่ามีผู้ร่วมแข่งขันในรุ่นนี้ทั้งหมดกี่คน แต่ผมลงแข่งและชนะรวดราว 5 คน ผมได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ในรายการไทยแลนด์โอเพ่นคาราเต้โด ครั้งที่ 1 รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก. ในปี พ.ศ.2531

ก่อนวันแข่งหนึ่งวันผมแวะไปเยี่ยมเฮียกฤชที่บ้านบ้านท่านอยู่ในซอยลาดพร้าว 95 ส่วนผมมาพักอยู่ที่บ้านของญาติในซอยลาดพร้าว 97 ผมชวนท่านไปชมการแข่งขันคาราเต้ แต่ท่านติดธุระไม่สะดวกไปเชียร์ เมื่อแข่งเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นผมจึงไปหาเฮียกฤชที่บ้าน และชวนกันไปหาอาจารย์โค้วที่บ้านย่านเยาวราช

เมื่ออาจารย์โค้วทราบว่า ผมชนะการแข่งขันคาราเต้มา ท่านถามว่าลงแข่งครั้งนี้มีบาดเจ็บตรงไหนบ้าง ผมบอกท่านว่าศอกขวาผมมีอาการบวม และรู้สึกเจ็บมากจนขยับแขนขวาไม่ได้ คงเกิดจากจังหวะตอนรับเตะคู่ต่อสู้ในรอบชิงชนะเลิศ เมื่อผมยื่นเหรียญทองให้ท่านดูอาจารย์โค้วไม่ได้สนใจเหรียญทองมากนัก ท่านทำการพอกยารักษาให้พลางสอนผมว่า “เหรียญทองแบบนี้ยังใช้ไม่ได้ ลื้อขึ้นไปแข่งสภาพแบบไหน ตอนจบหรือชนะเป็นแชมป์ ลื้อต้องลงมาสภาพแบบนั้น ถึงจะถือว่าใช้ได้ ในเมืองจีนหากมีเวทีประลองยุทธกัน ผู้ที่ชนะหรือเป็นแชมป์ เมื่อออกจากเวทีจะมีคนมีฝีมือมาขอท้าประลองลื้อต่ออีก หากลื้อได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้อย่างเต็มที่บนเวทีมาแล้ว เมื่อลื้อต้องสู้กับคนมีฝีมือที่รอขอท้าประลองแชมป์ก็มีโอกาสพลาดและพ่าแพ้ได้ เพราะคนแบบนี้ต้องการสู้กับผู้ชนะคนเดียวเลย” เมื่อจบการแข่งขันและเสร็จจากเยี่ยมเฮียกฤช และไปรักษาอาการบาดเจ็บกับอาจารย์โค้วที่กรุงเทพฯเรียบร้อยแล้วผมจึงเดินทางกลับมาเชียงใหม่ใช้ชีวิตตามปกติ

ปี พ.ศ.2532 ในขณะที่ผมยังเป็นนักศึกษาอายุเพียง 19 ปี ผมเรียนอยู่ชั้นปี 2 คณะบริหารธุรกิจสาขาวิชาการจัดการโรงแรม และการท่องเที่ยวมหาวิทยาลัยพายัพจังหวัดเชียงใหม่ ผมผ่านการฝึกทั้งมวยสากล ยูโด มวยไทย คาราเต้ เทควันโด และมวยจีน (กังฟู) นอกจากผมจะฝึกมวยกับครูบาอาจารย์แล้วนั้น ผมยังติดต่อไปยังฝ่ายกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเพื่อขอจัดตั้งชมรมศิลปะป้องกันตัวขึ้น และใช้ชื่อชมรมในครั้งแรกว่า “ชมรมศิลปะป้องกันตัว” โดยมีคนสนใจและสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในครั้งแรกจำนวน 100 กว่าคน

ตอนนั้น ผมยังได้สอนศิลปะการต่อสู้เป็นงานอดิเรก โดยสถานที่แรกที่ผมไปสอนคือศูนย์ฝึกพีแจ๊สเซอร์ยิม เป็นยิมที่อยู่ข้างกาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ ผมเรียกชื่อศาสตร์ที่ผมถ่ายทอดนั้นว่า “ไทฟูโด” โดยคิดตั้งชื่อแบบง่ายๆขึ้นในตอนนั้นเพื่อให้ออกเสียงโดยมีนัยยะให้พอเข้าใจได้ว่าผมซึ่งเป็นผู้สอนมีทักษะมวยไทย (ฝึกกับครูทอง เชื้อไชยา) กังฟู (สำนักลิ่วเหอและสำนักมวยจีนมังกรธิเบต) และคาราเต้โด (ชมรมคาราเต้โด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) รวมถึงเทควันโด (ฝึกกับอาจารย์กฤช วรธำรงค์) ด้วยจึงนับได้ว่าชื่อศิลปะป้องกันตัว “ไทฟูโด” ได้ถูกก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ.2532 และต่อมาไม่นานผมก็เปลี่ยนชื่อชมรมศิลปะป้องกันตัว “โด” ที่ผมขอจัดตั้งมาเป็นชื่อชมรมศิลปะป้องกันตัว “ไทฟูโด” ด้วยเลย

ในปี พ.ศ.2532 ขณะนั้นผมยังฝึกมวยจีนที่สำนักลิ่วเหอกับหมอน้อย หมอน้อยมีชื่อเสียงทางด้านรักษากระดูกเส้นเอ็นแบบแผนจีนโบราณทั้งยังเป็นครูสอนมวยจีนอยู่ที่ในเมืองเชียงใหม่มานาน เวลาหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่มของทุกวันอาจารย์น้อยนัดผมให้ไปฝึกมวยจีนที่บ้านพี่บูลย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักลิ่วเหอ พี่บูลย์นั่งบนรถเข็นเพราะเคยประสบอุบัติเหตุขาพิการ คนนำฝึกคือพี่ชุม ทั้งสองคนเป็นศิษย์น้องของอาจารย์น้อย ทั้งหมดเรียนมวยจีนมาจากอาจารย์ก๋วยเส็ง เมื่อเวลาสามทุ่มผมฝึกมวยจากสำนักลิ่วเหอเสร็จ ผมก็ไปฝึกต่อที่บ้านอาจารย์น้อยต่ออีก ต่อมาอาจารย์น้อยชวนอาจารย์โจ เหล่าวาง (อาจารย์โจบอกว่าท่านเป็นชาวมูเซอดำ มีอาชีพพ่อค้าคาราวานเพชรพลอยบนดอย) มาร่วมกันทำสำนักมวยจีนกับสำนักลิ่วเหอของอาจารย์น้อยและตกลงใช้ชื่อว่า สำนักมวยจีนมังกรธิเบต อาจารย์โจมีทักษะมวยจีนเป็นที่ยอมรับว่าแข็งแรง ดุดัน ทำให้ผมได้ฝึกมวยจีนกับอาจารย์น้อยและมีอาจารย์โจเข้ามาที่สำนัก (บ้านพี่บูลย์) เพื่อมาถ่ายทอดมวยจีนให้พวกเราเพิ่มเติมอีกคืนหนึ่ง ขณะที่ฝึกมวยกันอยู่ที่บ้านอาจารย์น้อย

พี่สมบัติศิษย์อาจารย์น้อยที่ขอเป็นศิษย์แต่ไม่ขอฝึกมวย ชอบนั่งดูและพูดคุยเรื่องมวย พี่สมบัติเล่าให้ฟังว่าอาจารย์เยซู่ฉายหัวหน้าเผ่ามูเซอดำ ที่บ้านปางไม้แดงสามารถใช้นิ้วมือแทงเจาะต้นไม้ได้ (พี่สมบัติเป็นชาวมูเซอดำและเป็นคนบ้านปางไม้แดง อาของพี่สมบัติเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เยซู่ฉาย) อาจารย์น้อยจึงบอกให้พี่สมบัติพาไปหาอาจารย์เยซุ่ฉาย และชักชวนพวกเราไปด้วยเช้าวันต่อมาพวกเรา 4 คน อาจารย์น้อย พี่สมบัติ พี่ตี๋และผม ขี่มอเตอร์ไซค์ 2 คันเพื่อไปหาอาจารย์เยซู่ฉายที่บ้านปางไม้แดง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเชียงใหม่ราว 90 กิโลเมตร เวลาใกล้เที่ยงพวกเราก็ไปถึงแต่กว่าจะได้พบอาจารย์เยซู่ฉายก็ใช้เวลาอีกนานพอสมควร อาจเพราะคนที่นั่นคิดว่าพวกเรามาแบบไม่ประสงค์ดีจึงไม่ยอมบอกว่าอาจารย์ เยซู่ฉายอยู่ที่ไหน โชคดีที่มีพี่สมบัติเป็นล่ามในการสนทนาทำให้ในที่สุดพวกเราก็ได้พบอาจารย์เยซู่ฉาย และพูดคุยกันจนเวลาล่วงไปเกือบบ่ายสามโมง “ผมขอตัวกลับก่อนได้มั้ยครับ ผมยังไม่ได้บอกเด็กๆ ที่ผมสอนว่าผมมาที่นี่ ผมขอกลับลงไปสอนที่ในเมืองตอนหกโมงเย็นถึงสองทุ่ม สอนเสร็จแล้วคืนนี้ผมจะกลับขึ้นมาอีกครับ” ผมบอกทุกคนแล้วขี่มอเตอร์ไซค์เพียงคนเดียวเพื่อกลับมาในเมืองเชียงใหม่ให้ทันสอนในเย็นวันนั้น

หลังจากสอนเสร็จ ผมแวะซื้อข้าวเหนียวไก่ย่างและอาหารเครื่องดื่มอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งแล้วรีบขี่มอเตอร์ไซค์มุ่งไปบ้านปางไม้แดง แต่ทว่าขาไปคราวนี้ถนนหนทางมืดแล้ว ผมขี่มอเตอร์ไซค์ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร ปะทะอากาศยามค่ำลมหนาวจับใจ จนเมื่อใกล้ถึงทางเข้าบ้านปางไม้แดง ซึ่งเป็นถนนดินแดงทำให้ผมชะลอความเร็วลงตลอดทาง ด้วยความมืดและไม่คุ้นชินเส้นทาง เมื่อต้องเจอทางโค้งหักศอกผมขี่รถหลุดโค้งพุ่งตกลงไปในพงหญ้าสูงข้างทาง เมื่อลุกขึ้นพยุงมอเตอร์ไซค์แล้วหัน ชะโงกลงไปก็เห็นไฟจากเมืองอยู่ลิบๆ ด้านล่าง ถ้าผมพุ่งเลยกอหญ้านี้ไปผมคงตกดอยสิ้นชีวิตเป็นแน่ ตั้งหลักได้ผมก็ขี่ไปต่อจนเมื่อใกล้ถึงเสียงมอเตอร์ไซค์ที่ดังในตอนเที่ยงคืนทำให้ทุกคนที่รอผมอยู่ได้ยินและออกมาจากในบ้าน

เมื่อผมจอดรถปรากฏว่ามือที่ผมจับแฮนด์รถ ผมไม่สามารถดึงมือออกเองได้ ผมกำจนมือชาและแข็งเกร็ง อาจารย์เยซู่ฉายมาช่วยดึงมือผมออกจากแฮนด์รถทั้งสองข้างแล้วรีบจูงมือผมเข้าไปข้างในบ้านเอาผ้าห่มมาให้ผมคลุมตัวไว้ผมหนาวสั่นอยู่พักใหญ่ๆ ตอนผมถอดหมวกกันน็อคขนตาผมมีหยดน้ำแข็งเกาะอยู่ด้วย หนาวอะไรขนาดนี้ คืนนั้นอาจารยเยซู่ฉายคุยเรื่องการฝึกให้พวกเราฟัง เมื่อทุกคนทานอาหารที่ผมเอามาด้วยจนหมดแล้ว พวกเรา 3 คน ก็ขอลากลับ พี่สมบัติไม่ได้กลับลงมาด้วยเพราะพี่สมบัติเป็นคนปางไม้แดง จึงขอนอนที่บ้านตัวเองไม่ลงมาด้วยกัน พี่สมบัติเล่าว่าตอนผมขอตัวกลับลงไปเมื่อตอนบ่าย อาจารย์เยซู่ฉายบอกกับทุกคนว่าปกติเด็กหนุ่มในเมืองแบบนี้มักจะไม่มีสัจจะผมน่าจะไม่ขึ้นมาแล้วแต่ถ้าผมกลับขึ้นมาอาจารย์เยซู่ฉายจะยอมสอนวิชาให้พวกเรา

ต่อมาอาจารย์น้อยขึ้นไปพบอาจารย์เยซู่ฉายอีกครั้งเพื่อขึ้นขันครู อาจารย์น้อยไม่ได้นัดผมให้ไปด้วย ผมเองก็ไม่ทราบว่าอาจารย์น้อยมีเหตุผลอะไร ส่วนผมแม้จะเสียดายเพียงใดก็ไม่มีความคิดที่จะไปฝึกวิชาจากอาจารย์เยซู่ฉายโดยลำพังเองแต่อย่างใด นับว่าอาจารย์เยซู่ฉายท่านเป็นอีกหนึ่งอาจารย์ที่ผมได้สัมผัสในหนทางฝึกยุทธของผม ผมยังคงจดจำระยะทางไปกลับกว่า 360 กิโลเมตรและค่ำคืนเหน็บหนาวแต่กลับมีความเมตตาจากอาจารย์เยซู่ฉายเป็นพลังส่งผ่านมาทำให้ใจผมรู้สึกอุ่น แม้ผมไม่มีโอกาสได้ฝึกกับท่านแต่ผมก็ต้องมุ่งหน้าในหนทางนี้ต่อไป

ต่อมา ไม่นานเมื่ออาจารย์น้อยต้องย้ายไปอยู่นครสวรรค์เพื่อรักษาคนที่เป็นอัมพฤกษ์ที่นั่น ผมจึงไม่ได้เข้าไปฝึกมวยจีนที่สำนักลิ่วเหออีก แต่ผมก็ยังคงฝึกซ้อมทบทวนด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง

ไทฟูโด เกิดขึ้นเมื่อไหร่?

ผมก่อตั้งศิลปะป้องกันตัวชื่อ “ไทฟูโด” ขึ้นในปี พ.ศ.2532 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ศิลปะป้องกันตัวไทฟูโดในยุคแรกเป็นมวยที่สะท้อนความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเน้นการฝึกกำลังในการเข้าต่อสู้เพราะผมเชื่อว่าในการต่อสู้นั้นคนที่ฟิตและแกร่งย่อมได้เปรียบเสมอ

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2532 ผมประสบอุบัติเหตุขับรถมอเตอร์ไซค์ล้ม ที่ถนนบริเวณไปรษณีย์ในเมืองเชียงใหม่ หลังผมฟาดกับพื้นถนนอย่างจัง ผมรักษาโดยทานยา และฉีดยาเพื่อระงับอาการปวดแต่อาการเจ็บกระดูกหลังและอาการปวดเรื้อรังกลับเพิ่มมากขึ้น ผมไม่สามารถที่จะเตะ หรือเล่นมวยแข็งได้คล่องแคล่วเหมือนเดิมซึ่งแม้ผมจะมีอาการเจ็บและปวดหลังจนแพทย์ให้หยุดออกกำลังกายแต่ผมก็แอบฝึกจนต้องทานยาระงับอาการปวดอยู่ตลอด และนานวันก็เริ่มทานในปริมาณมากขึ้น

กระทั่งปลายปี พ.ศ.2533 ผมได้ย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เนื่องจากต้องมาเรียนภาษาญี่ปุ่น ที่สถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น โดยมีแผนที่จะเรียนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ก่อนที่จะเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงที่กลับมากรุงเทพฯในครั้งนี้ผมได้มาพักที่บ้านญาติในซอยลาดพร้าว 97 ซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเฮียกฤชในซอยลาดพร้าว 95 ที่อยู่ติดกันอีกครั้ง

ราวเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ.2533 ผมจึงได้ขอให้เฮียกฤช พาไปพบอาจารย์โค้วเพื่อขอเรียนไท่เก๊กในความคิดครั้งแรกที่อยากจะเรียนไท่เก๊กกับอาจารย์โค้วนั้น ผมไม่ได้คิดว่าจะเรียนเพื่อการต่อสู้หรือป้องกันตัวแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการที่จะเรียนเพื่อสุขภาพและรักษาสภาพมวยเดิมเอาไว้เท่านั้นเอง

ในวันที่เฮียกฤช พาผมไปพบอาจารย์โค้ว อีกในครั้งนี้ อาจารย์โค้วยิ้มแย้มแจ่มใสและพูดคุยอย่างสนุกสนาน และสอบถามผมว่าได้เคยเรียนมวยอะไรมาบ้าง และให้ผมรำท่ามวยให้ท่านดู จากนั้นอาจารย์โค้วยังได้เรียกผมมาตีแขนกับท่าน เพื่อทดสอบความแข็งแรงของแขนอีกด้วย ซึ่งอาจารย์โค้วบอกว่าแขนผมมีความแข็งใช้ได้ ผมอายุ 20 ปีและเล่นมวยแข็งฝึกกำลังมามากพอสมควร ผมยอมรับว่าตอนตีแขนกับอาจารย์โค้วซึ่งอายุย่าง 60 ปี แล้วนั้น ผมรู้สึกสะเทือนแขน อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน หลังจากนั้นอาจารย์โค้วก็กลับไปนั่งเก้าอี้ เมื่อสนทนากันอีกสักพักนึงแล้ว อาจารย์โค้วก็ลุกขึ้นจากเก้าอี้เรียกผมให้เดินเข้าไปหาแกยื่นมือมาผมก็ยื่นมือตอบไป แต่เพียงแค่มือผมสัมผัสโดนมืออาจารย์โค้วแล้วสิ้นเสียง “ฮะ” ที่อาจารย์โค้ว เปล่งออกมาตัวผมก็กระเด็นออกไปติดกำแพงบ้าน ตกมากระทบเก้าอี้ ล้มลงท่าคุกเข่าโดยผมก็ไม่รู้เลยว่าผมกระเด็นได้อย่างไร ในใจผมตอนนั้นมีความคิดแค่เพียงว่า “ชอบๆ ใช่เลย” ไม่มีคำพูดอะไรอีก “ต้องเรียนกับอาจารย์โค้วแน่นอน ไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว”

ในวันนั้นอาจารย์โค้วก็เล่นมวยออกมืออีกหลายครั้งเล่นกันจนผมต้องขอยาแก้ช้ำในกินกันเลยทีเดียว วันนั้น อาจารย์โค้วดูอารมณ์ดีมาก มีความสุขที่ได้เล่นมวยเมื่อผมขอเป็นศิษย์อาจารย์โค้ว ส่วนท่านก็ตกลงจะสอนมวยให้ผมแล้ว ผมก็โดนบททดสอบก่อนเรียน เช่น วันแรกที่อาจารย์โค้วนัดให้ไปฝึกนั้น อาจารย์โค้วนัดผมให้ไปเจอที่สวนจตุจักรเวลาหกโมงเช้าแต่เมื่อผม เดินทางไปที่สวนจตุจักรตามเวลานัด ก็ไม่พบอาจารย์โค้ว จนกระทั่งเมื่อเวลาล่วงไปมากแล้ว ผมจึงโทรศัพท์เข้าไปหาอาจารย์โค้ว ท่านรับสายแล้วพูดว่า “ลื้อไปด้วยหรือ” พร้อมกับหัวเราะชอบใจ แล้วบอกให้ผมไปเจอท่านที่บ้านแถวเยาวราชแทน วันนั้นผมไปถึงบ้านท่านเกือบเที่ยงวันและก็ยังไม่ได้มีการฝึกอะไรเพียงแต่เข้าไปนั่งคุยกันเท่านั้น อาจารย์โค้วจึงนัดให้ผมไปเรียนที่บ้านอาจารย์โค้ว แถวรามอินทรา ทุกวันเสาร์และอาทิตย์เวลา 6 โมงเช้าแทน เนื่องจากช่วงนั้นวันจันทร์ถึงศุกร์ผมต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นที่สถาบันส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น ไปด้วยบททดสอบอีกเรื่องคือเมื่อผมฝึกไปได้ประมาณสามเดือน อาจารย์โค้วบอกว่า “ที่สอนมาแล้วนั้นอั๊วะสอนผิดนะ” ผมจึงตอบกลับไปว่า “อาจารย์สอนผิด อาจารย์ก็สอนใหม่ได้” ท่านก็หัวเราะชอบใจเหมือนเคย

อาจารย์โคว จุน ฮุย เล่าว่าท่านเรียนไท่เก๊กสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยมาก่อน ต่อมาเมื่อท่านมาเรียนไท่เก๊กของสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง ท่านได้ยกน้ำชาสืบสายไท่เก๊กตระกูลหยางทางสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิง ท่ารำที่อาจารย์โค้วสอนให้ผมและลูกศิษย์ของท่านเป็นท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่า ซึ่งท่านเรียนกับอาจารย์ต่งฮูหลิงเป็นท่ารำมวยไท่เก๊กตระกูลหยางสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย หรือตั้งเอ็งเกี๊ยก (ค.ศ.1898-ค.ศ.1961) อาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นอีกหนึ่งในศิษย์เอกของท่านหยางเฉินฝู่ อาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นผู้ที่มาเผยแพร่มวยไท่เก๊กตระกูลหยางในเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 ก่อนจะให้บุตรชายของท่านคืออาจารย์ต่งฮูหลิง มาสอนมวยในเมืองไทยในปีต่อมา

ต่อมาในปี พ.ศ.2507 อาจารย์โค้วเชิญอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งมาเผยแพร่ไท่เก๊กในประเทศไทยซึ่งท่านเป็นหนึ่งในห้าศิษย์เอกของอาจารย์เจิ้งมั่นชิง อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งถ่ายทอดการผลักมือและลมปราณให้อาจารย์โค้ว แต่ต่อมาในปี พ.ศ.2507 อาจารย์โค้วเชิญอาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งมาเผยแพร่ไท่เก๊กในประเทศไทยซึ่งท่านเป็นหนึ่งในห้าศิษย์เอกของอาจารย์เจิ้งมั่นชิง อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งถ่ายทอดการผลักมือและลมปราณให้อาจารย์โค้ว แต่อาจารย์เอี้ยบเสี่ยวเท่งไม่ได้ถ่ายทอดท่ารำมวยไท่เก๊กชุดรำ 37 ท่าของสายอาจารย์เจิ่งมั่นชิงเพราะเห็นว่าอาจารย์โค้วรำมวยไท่เก๊กท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่า สายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยเป็นอยู่แล้ว เพื่อถือเป็นการให้เกียรติสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ยด้วย ทำนองว่าไม่สอนท่ารำทับสายกัน

ประวัติอาจารย์โควจุนฮุยจากที่ท่านเล่านั้น ท่านว่าพ่อ และแม่เป็นชาวจีนแต้จิ๋วได้มาเที่ยวประเทศไทยซึ่งขณะนั้นแม่ท่านท้องแก่และคลอดท่านที่ จ.อุตรดิตถ์ ในปี พ.ศ.2473 อาจารย์โค้วได้สัญชาติไทยว่าด้วยหลักดินแดนคือบุตรคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ตามกฎหมายเวลานั้น อาจารย์โค้วเกิดเมืองไทยแต่ไปเติบโตและฝึกมวยจีนเส้าหลินใต้ที่เมืองจีนเมื่ออาจารย์โควจุนฮุย อายุ 17 ปีท่านกลับมาประเทศไทยเพื่อรับการเกณฑ์ทหาร และอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯจนได้มาพบ และขอเป็นศิษย์อาจารย์แบ๊เง็กปอซึ่งลี้ภัยมาจากเมืองจีน อาจารย์แบ๊เง็กปอเรียนมวยจีนมาจากเมืองจีนกับอาจารย์สองท่าน คืออาจารย์เจ็งโหล่ยโก้ว และอาจารย์ลี้ ฉายา ลี้ใต้ยิ้ง อาจารย์แบ๊เง็กปอ ได้เรียนมวยจีนทั้งห้าสกุลคือ เจ็งแกก่า ลี้แกก่า แบ้แกก่า เตียแกก่า และจูแกก่า ซึ่งมวยเหล่านี้เป็นมวยจีนใต้ทั้งหมด

นอกจากอาจารย์โคว จุน ฮุย จะฝึกมวยจีนใต้มาแล้วแต่เมื่อท่านมาอยู่เมืองไทยท่านได้ไปเรียนมวยไทยกับอาจารย์ผล พระประแดง (ผล พูนเสริม เป็นชาวจังหวัดลพบุรีเป็นนักมวยสากลรุ่นแรกๆ ของประเทศไทย มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นจนได้ฉายา “อาจารย์ผล” หรือ “กระทิงเปลี่ยว” โดยชกทั้งมวยไทยและมวยสากลร่วม 500 ครั้ง โดยไม่เคยแพ้น็อค) อาจารย์โคว จุน ฮุย เป็นหมอรักษาด้านศาสตร์จีนโบราณ จัดกระดูก ฝังเข็ม ครอบแก้ว ท่านมีทักษะยุทธทั้งแข็งและอ่อน อีกทั้งยังเรียนรู้มวยไทยอีกด้วย

จนกระทั่งเมื่ออาจารย์โค้วประสบเหตุขาข้างขวาพิการต้องใส่ขาเทียม ท่านจึงมุ่งไปที่มวยไท่เก๊กเป็นหลัก อาจารย์โคว จุน ฮุย เป็นที่รู้จักกันในนามอาจารย์โค้ว สำนักไท่เก๊กแห่งวัดสัมพันธวงศ์หรือวัดเกาะ ย่านเยาวราช กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ.2534 ทั้งที่ผมยังมีอาการเจ็บหลังและมีอาการปวดเรื้อรังอยู่ ผมก็เข้าร่วมแข่งขันกีฬาคาราเต้ในรายการไทยแลนด์โอเพ่นคาราเต้โดครั้งที่ 2 รุ่นไม่จำกัดน้ำหนัก ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ผมได้รับรางวัลเหรียญเงินในการแข่งขัน หลังจากแข่งเสร็จผมรีบไปหาอาจารย์โค้วและยื่นเหรียญเงินให้อาจารย์โค้วดู อาจารย์โค้วไม่ได้สนใจเหรียญแต่อย่างใด ท่านกลับถามเช่นเดิมว่าลงแข่งครั้งนี้มีบาดเจ็บตรงไหนบ้าง ผมบอกอาจารย์โค้วว่าไม่มีบาดเจ็บเลยครับ อาจารย์โค้วยิ้มถูกใจและพูดว่าลื้อขึ้นไปแข่งสภาพแบบไหน ลื้อต้องลงมาสภาพแบบนั้น เหรียญนี้ถือว่าใช้ได้

เรื่องยากอย่างหนึ่งตอนเริ่มฝึกมวยไท่เก๊กของผมคืออาจารย์โค้วไม่ให้ผมออกแรง ท่านว่าให้ทิ้งมวยแข็งหรือหยุดฝึกกำลังก่อน ปกติผมวิดพื้นดันพื้นในเซ็ตเดียวสูงสุด 250 ครั้ง แขนแต่ละข้างขยุ้มคอขวดถังน้ำสีขาวแบบใส่น้ำเต็มถังขนาด 20 ลิตรและกางแขนยกขึ้นเสมอไหล่ แม้ผมจะประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มจนมีอาการปวดหลังผมก็ยังคงวิดพื้นหรือฝึกยกถังน้ำอยู่ เวลามีอาการปวดมากๆ ผมก็อาศัยทานยาแก้ปวดบรรเทาไปก่อน ผมต้องคอยเตือนตัวเองว่าอย่าเพิ่งซ่า เก่งแต่เดี้ยงมันน่าจะไม่เวิร์ค ตั้งใจฝึกมวยไท่เก๊กไปก่อน

เมื่ออาจารย์โค้วบอกว่าให้ทิ้งกำลังแข็งก่อนผมก็พยายามลดการออกแรงและลดการฝึกกำลังลง แต่ก็มีแอบฝึกบ้างเป็นระยะๆ และถ้าวันไหนผมแอบวิดพื้นหรือยกถังน้ำมาพออาจารย์โค้วเรียกผมมาเล่นผลักมือด้วย แค่แตะสัมผัสมือกัน ท่านก็จะพูดว่าลื้อไปเล่นอะไรมา ไปฝึกกำลังมาอีกแล้วใช่มั้ย ผมก็ได้แต่ยิ้มรับหน้าเจื่อนๆ คิดในใจทำไมอาจารย์โค้วถึงรู้นะ เมื่ออาจารย์โค้วเห็นว่าผมไม่สามารถทิ้งมวยแข็งได้ในระยะเวลาอันสั้น ท่านจึงสอนทั้งมวยเส้าหลินใต้ให้ ผมรำมวยไท่เก๊กท่ารำชุดใหญ่ 81 ท่าสายอาจารย์ต่งอิงเจี๋ย และฝึกการรักษาด้านศาสตร์จีนโบราณให้ผมไปด้วยกันเลย

ผมฝึกอยู่กับอาจารย์โค้วเดินทางมาบ้านท่านตั้งแต่เช้ามืดและกลับบ้านช่วงดึก ผมเข้าออกบ้านท่านจนผมเองเรียกท่านว่าป๊าตามที่ลูกๆ ท่านเรียกประมาณเดือนเมษายน พ.ศ.2534 อาจารย์โค้วจัดพิธียกน้ำชาที่บ้านท่านที่เยาวราช โดยครั้งนั้นมีศิษย์เข้าร่วมยกน้ำชาทั้งหมดสี่คน หลังจากยกน้ำชาประมาณ 1 เดือน คือช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2534 ผมจึงลาอาจารย์โค้วเพื่อเดินทางไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น

บทความและข่าวสารอื่นๆ

ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
"ไอกิโด" เขียนคำ "คิ" ในแบบตัวอักษรดั้งเดิม
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไชยา (Muay Chaiya)
มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไทย (Muay thai)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
คาราเต้ (Karate) ศิลปะผสมผสานเสริมร่างกายผนึกจิตใจ
คาราเต้ (ญี่ปุ่น: 空手; โรมาจิ: karate; ทับศัพท์: คะระเตะ) หรือ คาราเต้โด (ญี่ปุ่น: 空手道; โรมาจิ: karat...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คืออะไร? 
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) เป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีความเคลื่อนไหวและน่าสนใ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ยูโด (Judo) คืออะไร?
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิ...
Before you continue to use Taifudo Academy
We use required cookies for site navigation, purchasing, improving your browsing experience to:
  • Provide you with services described on the Sites, general administrative and performance functions, and support services;
  • Operate the Sites and verify your identity when you sign in to any of our Sites;
  • Inform you about company news and give updates on our services;
  • Carry out technical analysis to determine how to improve the Sites and services we provide;
  • Track outages and protect against spam and fraud.
If you choose to “Accept all,” we will also use cookies and data to:
  • Improve site performance;
  • Deliver and measure the effectiveness of ads;
  • Show personalized content and ads, depending on your settings.
You can always change your browser settings and other ways to reject cookies. To learn more, please visit www.allaboutcookies.org.