Table of contents
การแต่งกายของไทฟูโด
การแต่งกายขึ้นอยู่กับสถานที่ทำการฝึกหัดฝึกในโรงฝึก ควรแต่งกายตามกฎระเบียบของสถานที่ที่กำหนดไว้ หากฝึกหัดส่วนตัว เสื้อผ้าไม่ควรรัดและกระชับจนแน่นเกินไปอาจทำให้การหายใจอึดอัด
สถานที่ฝึกไทฟู (Taifudo Academy)
ในโรงฝึกที่กำหนดนัดหมายทำการฝึกกันไว้หรือตามสถานที่ต่างๆ ที่ใช้ออกกำลังกายแต่ที่สำคัญต้องไม่ก่อความรำคาญให้แก่ผู้อื่นแล และสถานที่ฝึกควรเป็นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้ดี
หากอยู่ในโรงฝึก, สถานที่ฝึกอาจมีหิ้งบูชาพระ, พระบรมฉายาลักษณ์, ธงชาติ, ภาพครูอาจารย์ เพื่อใช้แสดงความเคารพ การสำรวมและยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้ฝึกตามควร เมื่ออยู่ในสถานที่ฝึกควรรักษามารยาท ปฏิบัติตามกฎรู้จักกาลเทศะให้ความเคารพต่อสถานที่ฝึกและควรช่วยกัน รักษาความสะอาดของสถานที่โดยทั่วๆ ไปด้วย
พิธีก่อนการฝึกไทฟูโด
ก่อนเริ่มฝึกศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด เมื่อเรียกรวมผู้ฝึกแล้ว ควรเคารพหิ้งบูชาพระหรือโต๊ะหมู่, พระบรมฉายาลักษณ์ธงชาติ (ถ้ามี), รูปเคารพของเหล่าครูบาอาจารย์ และอาจารย์ผู้ทำการสอนตามลำดับ
สิ่งที่ผู้ฝึกควรรู้
- เริ่มแรกเรียนมวย ยังไม่ควรด่วนสงสัย พึงปฏิบัติตามคำสั่งของครูอาจารย์
- ไม่ควรใช้แรงตามความเคยชินในการฝึก ควรผ่อนคลายมีสมาธิ
- แต่ละวันควรหัดเรียนเพียงท่าหรือสองท่า ถ้ามากเกินจะเกิดความสับสนและควรหมั่นทบทวนซ้ำๆ จนเกิดความชำนาญ
ข้อพึงกระทำ
- ต้องมีความเคารพต่อบิดามารดาและผู้มีพระคุณ
- ต้องมีความเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์
- ต้องรู้จักให้เกียรติซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น
ได้อะไร? จากการฝึกศิลปะป้องกันตัวไทฟูโด
- รู้และเข้าใจหลักการป้องกันตัว ความอ่อนน้อมถ่อมตน
- สร้างความเชื่อมั่นความมั่นคงให้กับตนเอง
- เสริมสร้างสมรรถภาพความพร้อมทางด้านร่างกาย และจิตใจ
จุดมุ่งหมายของการเผยแพร่ศิลปะป้องกันตัว “ไทฟูโด”
- เพื่อให้ผู้ฝึกรู้จักและเข้าใจในหลักการป้องกันตัวหลักปรัชญาในศิลปะต่างๆ แนวความคิดหลักการฝึก
- เพื่อให้รู้จักและเข้าใจประโยชน์การฝึกฝนศิลปะฯ ทั้งทางด้านการป้องกันตัวและความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
- เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในหมู่ผู้ฝึกศิลปะฯ และผู้ที่สนใจในวิชาศิลปะฯ จากแขนงต่างๆ
- เพื่อเป็นการยกระดับพัฒนาเผยแพร่ศิลปะฯ ให้แพร่หลายในหมู่ผู้ที่สนใจและเป็นการอนุรักษ์สืบทอดเจตนารมณ์ของอาจารย์ให้คงอยู่นานเท่านาน
ระเบียบมารยาทสำหรับผู้ฝึกควรปฏิบัติ
การเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกันนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญของผู้ฝึกแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน, ความรัก, การให้อภัย, น้ำใจ, ต่อเพื่อน และครูบาอาจารย์
- ควรเชื่อฟังคำแนะนำและเคารพต่อครูบาอาจารย์
- ให้ความเคารพซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล
- ให้มีความสามัคคีและช่วยเหลือกันเท่าที่สามารถช่วยได้
- ไม่ควรล้อเล่นหรือสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่นในขณะฝึกซ้อม
- ไม่เสพของมึนเมาหรือสิ่งเสพติดในขณะที่มาฝึกซ้อม
- ไม่ควรสวมใส่อุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ฝึกและผู้ฝึก เช่น สร้อยข้อมือ, สร้อยคอ, นาฬิกา, แหวน, เล็บมือเล็บเท้ายาวควรตัดแต่งให้เรียบร้อย
การทำความเคารพ
ความหมายทั้ง 5 ของนิ้วมือ คือ
- บิดามารดา, ญาติพี่น้อง
- ครูบาอาจารย์, ผู้มีพระคุณ
- เพื่อน, ศิษย์พี่ศิษย์น้องในสำนัก
- คนรัก, ภรรยา
- ชาติ
มือขวาที่กำหมัด หมายถึง ความสามัคคี, การป้องกันคุ้มครอง, ความหนักแน่, การร่วมกัน ฯลฯ
มือซ้ายที่แบมือ หมายถึง ฟ้า, ดิน ความหมายทั้ง 5 ของนิ้ว, ทวิลักษณ์ ปลายนิ้วที่ชี้ขึ้น หมายถึง ฟ้า สันข้อมือ หมายถึง ดิน
การประสานมือกัน หมายถึง หน้าปกป้องคุ้มครองบุคคลทั้ง 5 ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไร ไม่ว่าสิ่งใดจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแต่เราจะไม่มีวันเปลี่ยน อีกความหมายคือ การแสดงความเคารพความนอบน้อมการอ่อนน้อมถ่อมตน
การหายใจของไทฟูโดมี 4 แบบ คือ
1. การปรับลมปราณหรือการปรับลมหายใจ (ปรับลมปราณสามระดับ)
ลมปราณ คือลมหายใจ เพื่อปรับสภาพระบบการหายใจให้กับไปสู่สภาวะปกติ การปรับลมปราณยังช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เลี้ยงส่งผลให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย
การเดินลมปราณหรือปรับลมปราณ 3 ระดับของไทฟูโด
- สูดลมหายใจเข้าปอดทรวงอกยืดขยายออก
- เมื่อปอด, ทรวงอกขยายออกแล้ว สูดหายใจเข้าไปอีกเพื่อยืดกระบังลม คือชายโครงทั้งสองข้างให้ขยายออก
- จากนั้นสูดลมเข้าไปจนผนังท้องยุบเข้าไป
- ทั้ง 3 ขั้นเสร็จให้ผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ จนผนังท้องกลับสู่สภาพปกติ
ทำอย่างน้อย 3 ครั้ง ช่วงตื่นนอนตอนเช้าควรทำติดต่อ 9 ครั้ง ทำก่อนการฝึกขณะฝึก ในกรณีต้องการผ่อนคลายอาการเหนื่อย,หลังการฝึก
2. การรีดลมปราณ
เพื่อการเร่งและให้เกิดกำลัง,คลายอาการจุก, พร้อมในการเข้าต่อสู้
- สูดลมหายใจเข้าปอดทรวงอกยืดขยายออก
- สูดต่อจนกระบังลม(ชายโครงทั้งสอง)ขยายออก
- สูดต่อจนผนังท้องยุบเข้าไป
- เมื่อผ่านทั้ง 3 ขั้นเสร็จ รีดลมออกจากปาก ผนังท้องยิ่งยุบเข้ากล้ามเนื้อท้องเริ่มเกร็ง ไล่ลมออกมาเรื่อย ๆอย่างช้า ๆจนลมเกือบหมดปอดและรีดกำลังลมจนตัวเกร็งไปทั้งร่างจนถึงสั่นไปทั้งตัว
3. การอัดลมปราณ
เพื่อแรงกระแทก, เตรียมการโจมตี, คือการรำต่อเนื่อง
- สูดลมหายใจเข้าสู่ปอดทรวงอกขยายออก
- ห่ออก เกร็งร่างกายช่วงบน
- กลั้นหายใจคล้ายการปิดทวารทั้ง 9
เวลารับแรงกระแทก เมื่อรับแรงกระแทกเสร็จค่อยผ่อนลมหายใจ
เวลาโจมตี ผ่อนลมหายใจออก โดยธรรมชาติทางจมูกตามกำลังแรงกระแทกหรือออกกำลังหมัดเท้าจนหมดลมหายใจ หรือขั้นเตรียมการโจมตีชุดใหม่ๆหรือขึ้นท่าใหม่
4. การคลายลม, การถอนหายใจ
เพื่อการผ่อนคลายหลังการฝึก,หลังการฝึกรำท่า,หลังการเดินลมปราณทุกชนิด,หลังจากรู้สึกเหนื่อย
- สูดลมหายใจเข้าเต็มปอด
- ผ่อนลมหายใจออกทางจมูกเรื่อย ๆจนหมดลม
- หรือผ่อนลมหายใจออกทางปากทีละน้อยจนหมดลม
- แล้วหายใจเข้าไปใหม่จนรู้สึกผ่อนคลาย
ในการฝึกการหายใจในลักษณะท่ายืนทุกท่าจะต้องใช้หลักของการหมุนเป็นเกลียวเสริมเติมด้วย โดยเริ่มจากฝ่าเท้าเหมือนจะดูดแรงจากพื้นขึ้นมาจากนั้นส่งแรงขึ้นท่อนขาเข้าสู่สะโพกขึ้นสู่เอวไปยังที่ตัวด้านหลัง ผ่านวน ทางศีรษะวกลงมายังลำตัวส่วนหน้า
ส่วนในการรีดลมเกร็งกำลัง เมื่อดึงกำลังขึ้นสู่เอวแล้วให้ดึงเข้าสู่กะบังลมขึ้นสู่ทรวงอก จากนั้นรีดลมออกท้องน้อยไล่ขึ้นไปจนร่างกายรู้สึกเกร็งไปทั้งตัว
ด้วยหลักการหายใจ 2-3 ที่ใช้ในลักษณะของการเก็งกำลัง, รับการปะทะกระแทก,รำมวยแบบส่งกำลังต่อเนื่อง,ซึ่งยังมีการฝึกลมปราณอีกหลายวิธีเพื่อใช้ในการฝึกการเก็บสะสมกำลัง โดยมากใช้ในลักษณะมวยอ่อนเช่นมวยไทเก๊ก
คำปฏิญาณ 6 ข้อ ของไทฟูโด
- ข้อที่ 1 : ข้าพเจ้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
- ข้อที่ 2 : ข้าพเจ้าจะกตัญญูต่อบิดา มารดา และผู้มีพระคุณ
- ข้อที่ 3 : ข้าพเจ้าจะเชื่อฟังครูบาอาจารย์ ด้วยเหตุและผล
- ข้อที่ 4 : ข้าพเจ้าจะให้เกียรติต่อตนเองและผู้อื่น
- ข้อที่ 5 : ข้าพเจ้าจะบำรุงรักษาร่างกายให้สะอาด แข็งแรงอยู่เสมอ
- ข้อที่ 6 : ข้าพเจ้าจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์อันไม่สงบทุกกรณี (ยกเว้น การรับใช้ชาติ)