บทที่ 19 มวยซินอี้ลิ่วเหอ รวดเร็ว ปราดเปรียว ดุดันและโหดร้าย

บทที่ 19 มวยซินอี้ลิ่วเหอ รวดเร็ว ปราดเปรียว ดุดันและโหดร้าย
หนังสือ : ศาสตร์แห่งไทฟูโด (Taifudo Academy)

ในวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2549 ผมผู้ก่อตั้งโรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ (Taifudo Academy) ในฐานะพันธมิตรจากประเทศไทยได้เดินทางจากหาดใหญ่ไปร่วมงานฉลองครบรอบ 85 ปี ของสมาคมจิงอู่ที่ประเทศสิงคโปร์ (Singapore Chin Woo Association) การเดินทางไปร่วมงานตามจดหมายเชิญครั้งนั้น มีลูกศิษย์ซึ่งอยู่หาดใหญ่ชื่อทรงเกียรติ ธาดาประดิษฐ์ หรือแสบ แสบฝึกคาราเต้และเป็นนักกีฬาทีมชาติมาก่อนแล้วจึงมาเรียนมวยกับผม และลูกศิษย์ชาวอเมริกันชื่อมิสเตอร์แกรแฮม เจนิสัน (Graham Jenison) เดินทางมาจากอเมริกามาเรียนมวยกับผม และหางานทำอยู่ที่หาดใหญ่ราวเกือบครึ่งปีแล้ว และยังมีศิษย์น้องสายมวยไท่เก๊กของผมชื่อวัชรวิชญ์ อึ้งสุวรรณพานิชหรือหมู ซึ่งขณะนั้นเปิดโรงเรียนสอน ภาษาจีนที่จังหวัดสระบุรี หมูเดินทางมาสมทบที่หาดใหญ่ เรา 4 คนบินไปประเทศสิงคโปร์และเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 85 ปี ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์พร้อมกัน และผมยังชวนมิสเตอร์แอนดี้ ชาน (Andy Chan) ชาวมาเลเซียซึ่งเป็นทั้งเพื่อน และศิษย์พี่ผมในสายมวยยิปกิ่นหวิงชุน ให้เดินทางจากกัวลาลัมเปอร์มาร่วมทีมและร่วมงานครั้งนี้ด้วยกัน

งานฉลองครบรอบ 85 ปี ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ในคืนวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2549 เป็นการแสดงมวยจีนและศิลปะการต่อสู้หลากหลายวิชาของผู้ร่วมงาน จากสมาคมจิงอู่สาขาต่างๆ ที่มีอยู่ 56 สาขาทั่วโลก รวมถึงผู้ร่วมงานจากสำนักมวยอื่นๆ ที่เป็นพันธมิตรกัน ส่วนผมและลูกศิษย์ได้ร่วมแสดงโชว์ทักษะการใช้มีดสั้น ในคืนนั้นด้วย สำหรับผมการได้เข้าร่วมงานในคืนนี้เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมากเพราะการแสดงทั้งคืนเต็มไปด้วยความเยอะของจำนวนรายการและความหลากหลายของชุดมวยที่แสดงโชว์บนเวที เมื่อทีมผมแสดงเสร็จก็มานั่งชมการแสดงชุดต่างๆ บอกได้เลยว่าคืน นั้นพวกผมได้ดูมวยกันจนหายอยากกันเลยทีเดียว

ในคืนต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 เป็นการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ พบปะพูดคุยและมอบของขวัญของที่ระลึกให้กัน มิสเตอร์กวองเลขาธิการสมาคมจิงอู่ประเทศสิงคโปร์ให้เกียรติพาผมไปคารวะอาจารย์ฮั่วจื่อเจิ้งทายาทรุ่นเหลนของปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย ซึ่งท่านมาร่วมงานฉลองครั้งนี้ด้วย ผมมีโอกาสได้พบปะอาจารย์, อาจารย์อาวุโสและประธานสมาคมจิงอู่สาขาต่างๆ พร้อมด้วยศิษย์และทีมงานที่มาร่วมงานอีกมากมายหลายท่าน ทั้งยังมีการมอบธงที่ระลึกของสำนักมวยต่างๆ ให้ผมตามธรรมเนียมที่ได้พบกันอีกด้วย

มิสเตอร์กวอง ท่านพาผมไปคารวะอาจารย์อีกท่านหน่ึ่ง ท่านมาร่วมงานและแสดงโชว์บนเวทีหลายรายการเมื่อคืนวาน มิสเตอร์กวองเรียกท่านว่าเหล่าต้า (Master Zhou Yue Wen) มิสเตอร์กวองบอกผมว่าจะให้อาจารย์เหล่าต้าสอนมวยพื้นฐานของสมาคมจิงอู่ให้ผมฝึกไว้ก่อน ผมเคยทราบมาว่าผู้ที่ได้เผยแพร่ เปิดสาขาสมาคมจิงอู่ต้องเรียนรู้ฝึกมวยพื้นฐานของจิงอู่ด้วย แต่ที่ผมสงสัยคือผมจะได้เรียนกับอาจารย์เหล่าต้าตอนไหน เพราะวันพรุ่งนี้ผมก็เดินทางกลับหาดใหญ่แล้ว เมื่อผมกลับมาถึงบ้านผมก็ยังไม่ได้เล่าเรื่องอาจารย์เหล่าต้าให้ภรรยาฟัง เพราะตัวผมเองก็ไม่คิดว่าจะได้ฝึกมวยกับอาจารย์เหล่าต้าในเร็ววันนี้

หลังจากที่ผมกลับจากสิงคโปร์ อีกราวเดือนกว่าๆ ช่วงเย็นวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ผมได้รับโทรศัพท์จากผู้หญิงวัยกลางคน เธอพูดอังกฤษสำเนียงจีนๆ จับใจความได้ว่าเดินทางมาจากสิงคโปร์ ตอนนี้มาถึงหาดใหญ่แล้ว กำลังรอผมอยู่ที่บริษัททัวร์แห่งหนึ่งในเมืองหาดใหญ่ ผมจึงชวนภรรยาแล้วรีบขับรถไปทันที ระหว่างทางภรรยาถามผมว่าใครมาหาเรา ทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้าเลย ผมตอบเธอว่าถ้าเดาไม่ผิดน่าจะเป็นอาจารย์เหล่าต้า “อาจารย์เหล่าต้าคือใครคะ?” ภรรยาผมถามพร้อมทำหน้างงเพราะเธอไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน ระหว่างขับรถผมบอกเรื่องอาจารย์เหล่าต้าเท่าที่รู้ และจำได้ให้ภรรยาฟังว่าท่านเป็นอาจารย์ที่มีสำนักมวยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นผู้สืบทอดวิชามวยมี่จงฉวน หรือมวยเอี้ยนชิงซึ่งเป็นมวยเหนือที่มีชื่อเสียงมาก ท่านเป็นรุ่นที่ 4 นับจากปรมาจารย์ ฮั่วหยวนเจี่ย ซึ่งเป็นสุดยอดฝีมือและวีรบุรุษของชาวจีนผู้ก่อตั้งสมาคมจิงอู่เซี่ยงไฮ้ประเทศจีน

เมื่อไปถึงบริษัททัวร์ผมจึงพบว่าอาจารย์เหล่าต้ามากับเพื่อนรุ่นพี่ผู้หญิง ชาวสิงคโปร์ซึ่งท่านก็ฝึกมวยจีนด้วยเช่นกัน อาจารย์เหล่าต้าพูดภาษาจีนกลาง ท่านพูดและฟังภาษาอังกฤษแทบไม่ได้เลย ท่านจึงชวนเพื่อนรุ่นพี่มาด้วยเพื่อเป็นล่ามในการมาหาดใหญ่ครั้งนี้ อาจารย์เหล่าต้า เป็นชายรูปร่างกำยำใบหน้าคล้ายดาราจีนนักบู๊ชื่อดังเฉินหลง พูดเสียงดังมีพลัง ทำตัวสนุกสนานเฮฮาเป็นกันเอง ท่านจะคุยกับทุกคนเหมือนทุกคนเข้าใจภาษาจีน ที่ท่านพูด ท่านพูดภาษาอังกฤษอยู่เพียงประโยคเดียวว่าเหล่าต้า handsome (หล่อ) ท่านจะพูดพร้อมตบที่อกเบาๆแล้วก็ยิ้ม ทุกคนที่ได้ฟังและเห็นก็จะขำตามๆ กัน

ส่วนอาจารย์ที่มาด้วยและคอยทำหน้าที่เป็นล่ามก็จะเลือกแปลประโยคที่เข้ากับสถานะการณ์ บางทีก็ต้องสรุปแล้วค่อยแปลทีเดียว เพราะเข้าใจเลยว่าอาจารย์เหล่าต้าพูดจนล่ามตามแปลไม่ทัน ก่อนผมจะพาสองคนเข้าไปพักโรงแรมที่ทั้งสองจองไว้ อาจารย์เหล่าต้าขึ้นรถแล้วพูดภาษาจีนน้ำเสียงจริงจังโดยล่ามแปลเป็นภาษาอังกฤษและผมแปลเป็นไทยพร้อมภาษากายและภาษามือด้วยได้ความว่า “ช่วยพาไปร้านอาหารที่มีงูเห่าหน่อย อยากกินเมนูงูเห่า” ผมฟัง แล้วอึ้ง เอาไงดี อาจารย์เหล่าต้าอยากกินงูเห่า ผมเคยผ่านร้านอาหารป่าที่เหมือนจะมีงูเห่าขาย ผมควรจะพาไปหรือปฏิเสธว่าไม่มีร้านอาหารแบบนั้น ผมพูดติดตลกว่าผมไม่เคยกินเลยไม่กล้ากินและไม่อยากพาไปกินด้วย แต่ผมก็ขับรถไปร้านที่คิดไว้ ขับไปก็แอบใจไม่ดี เมื่อไปถึงหน้าร้านปรากฎว่าวันนี้ร้านปิด ผมดีใจมาก แต่อาจารย์เหล่าต้าไม่ลดละ บอกว่าพาไปกินเนื้อเสือหรือเนื้อจระเข้ก็ได้ ผมเห็นท่าไม่ดี รีบบอกว่าน่าจะไม่มีร้านอาหารไหนมีขายแล้วรีบพาอาจารย์เหล่าต้าไปทานร้านอาหารจีน เสร็จแล้วก็ไปส่งที่โรงแรม

อาจารย์เหล่าต้าชวนผมขึ้นมานั่งคุยต่อในห้องพัก ผมถามอาจารย์เหล่าต้าว่ามาเที่ยวหาดใหญ่ครั้งนี้วางแผนว่าจะทำอะไรและไปพบใครบ้าง อาจารย์เหล่าต้าบอกว่าตั้งใจจะมาหาผมหนึ่งสัปดาห์เพื่อมาถ่ายทอดมวยให้ ตามที่มิสเตอร์กวองเลขาธิการสมาคมจิงอู่ประเทศสิงคโปร์ ได้เคยบอกไว้ว่าจะเชิญให้เดินทางมาถ่ายทอดมวยให้ผม (ชีวิน) ที่เมืองไทย ผมรู้สึกซาบซึ้งทั้งอาจารย์เหล่าต้าและมิสเตอร์กวองเป็นอย่างมากที่ให้เกียรติและมีเมตตากับผม ผมนัดอาจารย์เหล่าต้าว่าพรุ่งนี้เช้าผมจะมารับแล้วพาไปที่โรงยิม ก่อนจะลากลับคืนนี้ อาจารย์เหล่าต้าหยิบแส้หางม้ายื่นให้และบอกว่าเอามาฝากและจะสอนอาวุธแส้ให้ผมอีกด้วย เช้าวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2549 ผมไปรับอาจารย์เหล่าต้ามาที่โรงยิมของผม พร้อมทั้งนัดคุณแม่ผมให้ท่านมาพบที่โรงยิมด้วยเพื่อแนะนำให้อาจารย์เหล่าต้ารู้จัก คุณแม่ผมพูด เขียนและอ่านจีนได้คล่อง ผมขอให้ท่านอยู่ด้วยในวันและเวลาที่ท่านสะดวกในช่วงที่อาจารย์เหล่าต้าอยู่ที่นี่เพื่อช่วยแปลจากจีนเป็นไทยให้ผมเข้าใจได้ดีมากยิ่งขึ้น

อาจารย์เหล่าต้า เกิดและอาศัยอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ประเทศจีน ท่านฝึกศิลปะการต่อสู้ของจีนตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ท่านได้เรียนมวยกับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมายหลายท่าน ท่านเริ่มฝึกกังฟูในปี พ.ศ.2512 และในปี พ.ศ.2521 ได้เข้าร่วมสมาคมจิงอู่เซี่ยงไฮ้ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย (Huo YuanJia 霍元甲)

อาจารย์เหล่าต้า เป็นหัวหน้าครูฝึกของโรงเรียนฝึกศิลปะการต่อสู้ ฉางวูเซี่ยงไฮ้ (Chief Coach of ShanghaiShangwu Martial Arts Training School) อีกด้วย

อาจารย์เหล่าต้า รับสืบทอดวิชามวยมี่จงฉวนซึ่งเป็นมวยเหนือที่มีชื่อเสียงมาก อาจารย์เหล่าต้านับเป็นผู้สืบทอดวิชามวยมี่จงฉวนรุ่นที่ 4 จากยอดนักยุทธ ปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ย ผู้ก่อตั้งสมาคมจิงอู่เซี่ยงไฮ้ประเทศจีน อาจารย์เหล่าต้าเรียนมวยมี่จงฉวนจากอาจารย์ Ji Jinshan ที่เรียนมวยมี่จงฉวนมาจากท่านฮั่วตงเก๋อบุตรชายคนรองของปรมาจารย์ฮั่วหยวนเจี่ยอาจารย์ Ji Jinshan ยังถ่ายทอดมวย Bagua Zhang, Bagua Biengan and Jiang style Bagua ให้อาจารย์เหล่าต้าอีกด้วย

อาจารย์เหล่าต้าเปิดสำนักมวยมีตำแหน่งเป็นทั้งประธานและเป็นอาจารย์ใหญ่ของสำนักเซี่ยงไฮ้วูซูหมิงเฉียง (Shanghai Wushu Ming Qiang )ประเทศจีน ท่านสอนศิลปะการต่อสู้จีนหลายวิชาทั้งหมัดมวยและอาวุธ ได้แก่ Xinyi Liuhe Quan 心意六合拳,Xing Yi Quan 形意拳 ,Ba Ji Quan 八极拳 ,Wu Ji Ba Gua Zhang 无极八卦掌, Ba Gua Gun 八卦棍,Yue Jia Si Ba Quan 岳家四把拳, Liu He Ba Fa Quan 六合八法拳 , Mi Zong Quan 迷踪拳, Mi Zong Quan 密宗拳, Yan Qing Quan 燕青拳, Qing Ping Jian 青萍剑, Fo Chen 佛尘, Fo Chen Jian 佛尘剑, Da Mo Zhang 达摩杖, Ya Shou Gun 压手棍, Mi Zong Taiji Shi San Jian 迷踪太极十三剑, Yang Style Taiji 杨式太极拳 Chen Style Taiji 陈式太极拳, Self Defense Techniques 防身术, Wushu for Health 健身功法 และยังมีมวยจีนอื่นๆ อีก ท่านสามารถสอนมวยจีนทั้งแบบโบราณดั้งเดิมและแบบวูซู (มวยจีนแบบวูซูเรียนแล้วมีโอกาสแข่งขันไปจนถึงระดับสากล หากได้เหรียญก็มีชื่อเสียงแต่อาจไม่มีหลักวิชาหลายอย่างที่วิชาสายมวยโบราณดั้งเดิมสืบทอดกัน เช่น หลักภายใน หลักท่าร่าง หลักแรงต่างๆ ฯลฯ)

อาจารย์เหล่าต้าได้รับรางวัลมากมายจากการแข่งขันกีฬาวูซูแห่งชาติ ท่านมีชื่อเสียงมากในเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้จีนทั้งมวยซินอี้ลิ่วเหอ, มวยสิงอี้และ Liu He Ba Fa ท่านเป็นครูฝึกสอนวูซูกังฟูในระดับนานาชาติ ท่านถูกเชิญให้ไปถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้จีนที่สิงคโปร์ ท่านเดินทางไปๆ มาๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 และในปี พ.ศ.2547 ท่านได้รับเชิญให้สอนกังฟูที่สมาคมจิงอู่กัวลาลัมเปอร์ประเทศมาเลเซียทั้งยังเคยฝึกสอนกังฟูหลักสูตรระยะสั้นๆ ที่อินโดนีเซียและมาเลเซียอีกด้วย

อาจารย์เหล่าต้าถ่ายทอดมวยพื้นฐานของจิงอู่ให้ผมเพียงวันแรก ผมก็สามารถจำที่ท่านสอนได้หมดเนื่องจากผมสามารถจำและรำมวยได้อย่างรวดเร็ว ทำให้มีเวลาพาอาจารย์เหล่าต้าตะลอนกิน และเที่ยวทั้งในเมืองหาดใหญ่และสงขลา ทุกๆ วันขอแค่ซื้อทุเรียนมาให้ทานเยอะๆ ท่านก็มีความสุขมากแล้ว ท่านชอบทานทุเรียนมากบอกว่าเป็นอาหารฮ่องเต้ ก่อนมาหาดใหญ่ท่านทานทุเรียนที่สิงคโปร์คิดเป็นเงินไทย วันละแปดพันบาทเลยทีเดียวโชคดีว่าช่วงนั้นเป็นหน้าทุเรียนพอดี ภรรยาและคุณแม่ผมก็จะคอยซื้อมาให้ทุกวัน แกทานได้เยอะมากๆ จริงๆ ทุเรียนหมอนทองลูกละสามกิโลกรัมสามารถทานต่อเนื่องสองสามลูกได้เลย แกทานหมดอย่างรวดเร็วและดูท่าเวลาทานน่าเอร็ดอร่อยมาก ส่วนผมเองก็มีชั่วโมงสอนตามเวลาปกติ ทั้งมวยไทยหัตถยุทธ และวิชาอาวุธดาบ เมื่ออาจารย์เหล่าต้าเห็นก็ขอร่วมฝึกซ้อมด้วย สร้างความสนุกสนานและเป็นกันเองอย่างมาก จนมาถึงชั่วโมงการฝึกไทฟูโด (ศิลปะป้องกันตัวที่ผมเป็นผู้คิดค้นระบบขึ้นมาเผยแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 และได้รับรองหลักสูตรจากกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ.2547) อาจารย์เหล่าต้าท่านให้เกียรติแนะนำท่ามวยสิงอี้ให้ลูกศิษย์ไทฟูโดได้ฝึกซ้อมกัน ต่อมามีการนำคลิปการสอนของท่านในวันนั้นอัพโหลดขึ้นยูทูบในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 (ตามลิ้งค์ https://www.youtube.com/MJ0_gczbyrI) เผยแพร่โดย minqiangwushu บรรยายว่า Video clips of Master Zhou Yue Wen teaching Xing Yi Quan in Thailand เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดกลับ อาจารย์เหล่าต้าบอกว่าไม่ต้องพาไปเที่ยวไหนแล้ว ท่านจะสอนแส้ฝอเสินที่ท่านเอามาให้ผมอีกเส้นมวยหนึ่งด้วย

ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2549 ตลอดกว่าสัปดาห์ที่อาจารย์เหล่าต้ามาครั้งนี้ ผมได้รับการถ่ายทอดมวย อู่ปู้ฉวน สือปู้ฉวน จีเปิ่นกง ซึ่งเป็นเส้นมวยพื้นฐานของจิงอู่และฝึกแส้ฝอเซิน ท่านเห็นว่าผมมีพื้นฐานมวยและความจำที่ดี จึงเมตตาถ่ายทอดมวยซินอี้ลิ่วเหอเฉวียนให้ผมอีกด้วย ท่านเล่าประวัติสายมวยและเขียนบันทึกไว้ให้ว่ามวยซินอี้ลิ่วเหอเฉวียนเป็นมวยที่ท่านเรียนจากอาจารย์ Li Zunsi ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศจีน

อาจารย์เหล่าต้าเล่าให้ฟังว่าปรมาจารย์ “จีหลงเฟิง” เป็นยอดฝีมือและเป็นทหารองครักษ์ของพระจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง หม่าเสวียลี่ได้ยินชื่อเสียงของท่านจึงเดินทางไปยังหมู่บ้านที่ท่านจีหลงเฟิงอาศัยอยู่ซึ่งใกล้กับมณฑลซานซี เพื่อต้องการไปเรียนมวยซินอี้ลิ่วเหอ แต่ท่านจีหลงเฟิงไม่ได้รับสอนมวยอย่างเปิดเผย หม่าเสวียลี่จึงแกล้งทำเป็นใบ้และหูหนวกไปสมัครเป็นคนรับใช้ของท่านจีหลงเฟิง ด้วยวิธีนี้ทำให้หม่าเสวียลี่สามารถเห็นท่านจีหลงเฟิงฝึกซ้อมซินอี้ลิ่วเหอเฉวียนและภายในสามปี หม่าเสวียลี่ได้เรียนรู้อะไรมากมายและมีความชำนาญอย่างมาก

หลังจากอยู่ได้สามปี หม่าเสวียลี่ต้องการจะออกจากบ้านของท่านจีหลงเฟิง เขาตัดสินใจบอกความจริงทุกสิ่งทุกอย่างแก่ท่านจีหลงเฟิง ท่านจีหลงเฟิงบอกให้หม่าเสวียลี่แสดงมวยซินอี้ลิ่วเหอที่แอบเรียนรู้ให้ท่านดู เมื่อได้เห็นหม่าเสวียลี่แสดงให้ดู ท่านจีหลงเฟิงรู้ได้ทันทีว่าหม่าเสวียลี่เป็นคนมีพรสวรรค์มากและเห็นแก่ความจริงใจของหม่าเสวียลี่ที่กล้ามาสารภาพ ท่านจีหลงเฟิงจึงยอมรับหม่าเสวียลี่เป็นศิษย์ และสอนมวยซินอี้ลิ่วเหออย่างครบสมบูรณ์เพิ่มเติมให้หม่าเสวียลี่ด้วย มวยซินอี้ลิ่วเหอสายเหอหนานนั้นได้รับการถ่ายทอดผ่านหม่าเสวียลี่ ยังคงใช้ชื่อเดิมคือมวยซินอี้ลิ่วเหอ และยังคงรักษารูปแบบการฝึกดั้งเดิม มีจีปู้ (ท่าเดินไก่) และสือต้าสิง (สิบลักษณ์ใหญ่) เป็นพื้นฐานสำคัญ ยึดถือจีหลงเฟิงเป็นผู้ให้กำเนิด แพร่หลายในชนเผ่าหุย ซึ่งเป็นกลุ่มชาวมุสลิมในเมืองจีน

หม่าเสวียลี่ถ่ายทอดมวยซินอี้ลิ่วเหอให้ Shang Yunxiang สืบทอดต่อมายัง Mai Zhuangtu สืบลงมาถึงYuan Fengyi และ Yuan Changqing Yuan Changqing สอนสืบทอดต่อมายัง Mai Jinkui และถ่ายทอดต่อมาถึง Li Zunsi อาจารย์ Li Zunsi ถ่ายทอดมวยซินอี้ลิ่วเหอ Xinyi Liuhe (รวมถึงมวย Quan Zha Quan, Xingyi Quan และอาวุธต่างๆ) ให้แก่อาจารย์เหล่าต้า

อาจารย์ Li Zunsi ซึ่งเป็นชนชาติหุยเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2461 ในมณฑลเหอหนานท่านศึกษามวยซินอี้ลิ่วเหอจาก Mai Jinkui ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในมวยซินอี้ลิ่วเหอ Xinyi Liuhe Quan, Qi Shi Quan, Cha Quan รวมทั้งดาบ,กระบี่, เคียวเล็กเคียวใหญ่ และ อาวุธอื่นๆ ท่านสอนว่าจุดเด่นของมวยซินอี้ลิ่วเหอ คือ “รวดเร็วปราดเปรียวดุดันและโหดร้าย”

อาจารย์ Li Zunsi เริ่มเรียนศิลปะการต่อสู้เมื่ออายุ 10 ขวบ ตอนอายุ 13 ปีท่านขึ้นไปเรียนมวยที่วัดเส้าหลิน ท่านเป็นมุสลิมชาวหุยจึงไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ เรียนมวยอยู่ สามปี จึงออกจากวัดเส้าหลิน มาศึกษามวย Cha Quan กับอาจารย์ Ma Zhongqi ในเมืองหวู่ฮั่นและเรียนมวยซินอี้ลิ่วเหอ (Xinyi Liuhe Quan 心意六合拳) กับอาจารย์ Mai Jinkui ที่เซี่ยงไฮ้ ท่านยังศึกษา Qi Shi Quan กับอาจารย์ Guo Wenzhi

อาจารย์ Li Zunsi นำจุดแข็งของวิชาต่างๆที่เรียนจากอาจารย์ทุกท่านมาใช้ฝึกฝนตัวเองอย่างหนักทำให้ทักษะการต่อสู้ของท่านนั้นดียอดเยี่ยมมาก ครั้งหนึ่งท่านเคยช่วยภรรยาของเพื่อนที่ถูกขังอยู่โดยแก๊งอันธพาลที่จับเธอไปเป็นโสเภณี ท่านต่อสู้กับแก๊งอันธพาลและสามารถช่วยภรรยาของเพื่อนออกมาได้

เมื่ออายุ 27 ปีอาจารย์ Li Zunsi เดินทางไปญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนจากจีนเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์และได้รับเหรียญทอง มีนักสู้ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งกล่าวไม่ยอมรับและท้าอาจารย์ Li Zunsi เพื่อที่ชาวจีนจะไม่เสียหน้า ท่านจึงรับคำท้าโดยนักสู้ชาวญี่ปุ่นใช้อาวุธดาบคาตานะและอาจารย์ Li Zunsi ใช้อาวุธพลอง หลังจากสู้กันเพียงสองยก ท่านสามารถใช้อาวุธพลองเคาะดาบคาตานะจนหลุดลอยไป ทำให้อาจารย์ Li Zunsi เป็นฝ่ายชนะ

ในเดือนมีนาคมปี พ.ศ.2504 อาจารย์ Li Zunsi ได้แสดงกระบี่เด่ียวและแส้เก้าท่อนที่โรงเรียนกีฬาเซี่ยงไฮ้มีผู้เข้าชมมากมายรวมถึงรองนายกรัฐมนตรีเฉิน ยี่ ด้วย ในปี พ.ศ.2525 ท่านเป็นผู้ตัดสินในการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบดั้งเดิมของจีน ท่านได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาแห่งชาติของชนกลุ่มน้อยแห่งชาติครั้งที่สอง และได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1
ในปี พ.ศ.2528 ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งใน 1000 อาจารย์ที่โดดเด่นยอดเยี่ยมจากคณะกรรมการระดับประเทศของจีน ต่อมาในปี พ.ศ.2529 ท่านได้เข้าร่วมการแข่งขันสมาคมกีฬาแห่งชาติครั้งที่สามและได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 และในปี พศ.2534 ท่านถูกเชิญให้ไปเยี่ยมชมและเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านศิลปะการต่อสู้ของจีนที่สมาคม Guoshu ของนิวซีแลนด์, สิงคโปร์, ฮอลแลนด์, มาเลเซีย, ออสเตรเลียและฮ่องกง

ศิลปะการต่อสู้ของจีนแบบดั้งเดิม ของอาจารย์ Li Zunsi แสดงถึงทักษะที่ลึกซึ้งในศิลปะและการต่อสู้ ท่านได้รับความชื่นชมและยกย่องจากผู้ที่หลงใหลในศิลปะการต่อสู้จีนในปี พ.ศ.2534 ภาพของการฝึกศิลปะการต่อสู้ของท่านถูกตีพิมพ์โดยนิตยสาร “Kung Fu” ของอเมริกา

ในปี พ.ศ.2542 อาจารย์ Li Zunsi ขณะนั้นแม้จะมีอายุมากถึง 81 ปีท่านยังคงสอนมวยซินอี้ลิ่วเหอ, Qi Shi Quan, Cha Quan และอาวุธ อยู่ที่อำเภอผู่ตง เมืองเซี่ยงไฮ้ อาจารย์ Li Zunsi เสียชีวิตในปี พ.ศ.2557 ด้วยวัย 96 ปี

คืนวันก่อนที่อาจารย์เหล่าต้าจะเดินทางกลับ ท่านทบทวนทุกท่าทุกมวยให้ผมจนท่านพอใจแล้ว ท่านจึงถอดชุดฝึกที่ใส่ตลอดเวลาที่สอนมวย แล้วมอบชุดฝึกนั้นให้ไว้เป็นที่ระลึกจากอาจารย์แก่ผม ต่อมาในปี พ.ศ.2553 มิสเตอร์กวองเดินทางมากับคณะจากสมาคมจิงอู่สิงคโปร์รวม 7 ท่าน มาเยี่ยมที่โรงยิมผม ครั้งนั้นผมต้อนรับและพาทุกท่านไปเที่ยววัดพระมหาธาตุที่นครศรีธรรมราช

ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานและร่วมแสดงบนเวทีอีกในปี พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นงานครบรอบ 90 ปีและในปี พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นงานครบรอบ 95 ปี ของสมาคมจิงอู่สิงคโปร์ การที่ผมไปร่วมงานทุกครั้งทำให้ได้พบอาจารย์เหล่าต้าและครอบครัวรวมถึงพบมิสเตอร์กวอง และทุกท่านที่สมาคมจิงอู่สิงคโปร์ ทุกคนให้การต้อนรับดูแลผมและคณะอย่างดี

อาจารย์เหล่าต้าให้สัมภาษณ์ และลงสื่อต่างๆ ด้วยว่าท่านมาถ่ายทอดมวยซินอี้ลิ่วเหอให้กับผมซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศไทยอีกด้วย เวลาสั้นๆ แต่กลับมีความรักความเมตตามากมาย จากที่ไม่รู้จักและไม่น่าจะได้พบกัน กลับมีโอกาสข้ามน้ำข้ามฟ้าข้ามทะเลได้มาผูกพันเป็นศิษย์อาจารย์กันและถ้าไม่มีมิสเตอร์กวองที่คอยเมตตา ผมคงไม่ได้รับโอกาสดีๆ เหล่านี้ผมซาบซึ้งและระลึกถึงท่านทั้งสองเสมอ

บทความและข่าวสารอื่นๆ

ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ไอคิโด (Aikido) คืออะไร?
"ไอกิโด" เขียนคำ "คิ" ในแบบตัวอักษรดั้งเดิม
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไชยา (Muay Chaiya)
มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 – ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
มวยไทย (Muay thai)
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
คาราเต้ (Karate) ศิลปะผสมผสานเสริมร่างกายผนึกจิตใจ
คาราเต้ (ญี่ปุ่น: 空手; โรมาจิ: karate; ทับศัพท์: คะระเตะ) หรือ คาราเต้โด (ญี่ปุ่น: 空手道; โรมาจิ: karat...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน (MMA) คืออะไร? 
ศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน หรือ Mixed Martial Arts (MMA) เป็นกีฬาการต่อสู้ที่มีความเคลื่อนไหวและน่าสนใ...
ไทฟูโด (Taifudo Academy) โรงเรียนศิลปศาสตร์การป้องกันตัวไทยหัตถยุทธ
ยูโด (Judo) คืออะไร?
ยูโด (ญี่ปุ่น: 柔道; โรมาจิ: jūdō จูโด) เป็นกีฬาและศิลปะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น มีต้นกำเนิ...
Before you continue to use Taifudo Academy
We use required cookies for site navigation, purchasing, improving your browsing experience to:
  • Provide you with services described on the Sites, general administrative and performance functions, and support services;
  • Operate the Sites and verify your identity when you sign in to any of our Sites;
  • Inform you about company news and give updates on our services;
  • Carry out technical analysis to determine how to improve the Sites and services we provide;
  • Track outages and protect against spam and fraud.
If you choose to “Accept all,” we will also use cookies and data to:
  • Improve site performance;
  • Deliver and measure the effectiveness of ads;
  • Show personalized content and ads, depending on your settings.
You can always change your browser settings and other ways to reject cookies. To learn more, please visit www.allaboutcookies.org.