ในสมัยอยุธยามีกองทหารอาสาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นซามูไรที่เจ้านายแพ้สงคราม หรือถูกยึดอำนาจ หลบหนีมา แล้วมาประจำอยู่ในกองทัพของอยุธยาเพื่อร่วมต่อสู้ในสงครามต่างๆ จนมีบทบาทในราชสำนักมากขึ้น ซึ่งขุนนางที่มีเชื้อสายญี่ปุ่นหลายท่านได้รับความไว้วางใจ แต่งตั้งให้เป็นทหารอารักษ์ขาพระมหากษัตริย์ และจากการที่ทหารญี่ปุ่นเหล่านั้นได้นำความรู้ในการตีดาบญี่ปุ่น เข้ามาผสมผสานกับการตีดาบของไทยในสมัยอยุธยา ทำให้เกิดเป็นดาบที่มีลักษณะของทั้งสองเชื้อชาติขึ้นมา เรียกว่า “ดาบทรงญี่ปุ่น” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดาบไทยทรงอย่างญี่ปุ่น” จากการผสมผสานกันอย่างลงตัวของทั้งสองลักษณะทำให้ดาบทรงญี่ปุ่นเป็นที่นิยมใช้พระราชทานเพื่อเป็นเครื่องหมายประดับยศให้กับขุนนาง และใช้เป็นเครื่องบรรณาการในการเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับต่างประเทศจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นอีกด้วย
ในอดีตการตีดาบไทยทรงอย่างญี่ปุ่นจะใช้ช่างตีดาบท้องถิ่นในเมืองอยุธยา และหัวเมืองปักษ์ใต้ ตั้งแต่บริเวณนครศรีธรรมราช ไปจนถึงหัวเมืองปัตตานี ซึ่งอาจจะทำให้รายละเอียดเล็กๆน้อยๆของดาบแตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น การผสมโลหะ การทำด้ามดาบ ฝักดาบ หรือกระทั่งการตกแต่งดาบด้วยโลหะเงิน (ดาบหลูบ) แต่อย่างไรก็ตามช่างตีดาบในท้องที่ต่างๆก็ยังคงรักษารูปทรงใบแบบดาบญี่ปุ่นแท้ๆเอาไว้ จึงนิยมเรียกว่า ดาบไทยทรงอย่างญี่ปุ่น
การต่อสู้เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับมนุษยชาติทุกเผ่าพันธุ์ เริ่มจากการเอาตัวรอดจากธรรมชาติของแต่ละกลุ่มชน เมื่อเวลาผ่านไป การต่อสู้ก็ได้ถูกขัดเกลา จนแฝงอยู่ในชีวิต ประจำวันต่างๆ เช่น การละเล่น การฟ้อนรำ การประลองฝีมือหรือจากการทำศึกสงคราม จนสามารถพัฒนาวิธี และหลักการฝึก กระทั้งสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน
และหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่หลายคนรู้จักก็คือ มวยไทย แต่มวยไทย ไม่ใช่เป็นเพียงการต่อสู้ของสยามประเทศเท่านั้น แต่ในอดีต ประมาณสี่ร้อยปีที่ผ่านมา การต่อสู้ด้วยมือเปล่า และวิธีการต่อสู้ด้วยอาวุธ ได้ถูกบันทึกไว้ ในตำราพระพิชัยสงคราม ซึ่งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ได้เกิดการพัฒนาจากกชุมชนเล็กๆ จนขยายตัวไปยังชุมชนขนาดใหญ่ จนกระทั่งสามารถนำไปใช้ในยามศึกสงครามได้ เมื่อเสร็จจากศึกสงราม เหล่านักรบทหารกล้าที่รอดชีวิตจากทำศึกสงคราม จึงได้รวบรวม
วิธีการต่างๆเอาไว้ ซึ่งบ้างก็กลับไปอยู่ภูมิลำเนาเดิม บ้างก็พเนจรไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทำให้วิชาการและศาสตร์การต่อสู้ ได้ถูกเผยแพร่ต่อไปยังผู้ที่สนใจ และได้ถูกรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้
การต่อสู้รูปแบบต่างๆของสยามประเทศ ถูกรวบรวมอยู่ในวิชาฉุปศาสตร์ (วิชาว่าด้วยการสงคราม) โดยที่ชาวสยามในอดีตจะต้องเรียนรู้ เป็นวิชาที่เรียนรู้เกี่ยวกับการรบทัพจับศึก เช่น วิธีวางแผนการรบ การจัดตั้งตั้งทัพ การดูพื้นที่ในการทำศึก การเลี้ยงม้า เลี้ยงช้าง และวิชาพหุยุทธ์ หรือวิชาการต่อสู้ด้วยมือเปล่าและอาวุธต่างๆ โดยวิชาฉุปศาสตร์จะแบ่งการฝึกเป็นสามขั้น ขั้นแรกเพื่อป้องกันตนเองให้ได้ ขั้นที่สองเพื่อทำร้าย หรือฆ่าผู้อื่นได้ ขั้นที่สามเป็นการเรียนการวางแผนการรบและกลศึกต่างๆ รวมไปถึงการใช้ดาบซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของเหล่านักรบ ซึ่งวิชาการใช้ดาบนั้น จะสามารถครอบคลุมการใช้อาวุธสั้นทั้งหลาย อาทิ ดาบดั้ง ดาบโล่ ดาบเขน ดาบคู่ ดาบเดี่ยว มีด และพลอง หรือกระบอง เป็นอาวุธยาวพื้นฐานที่ใช้ในการออกพลังการฟาด การตี การกระแทก หรือนำไปพลิกแผลงกับอาวุธยาว เช่น หอก ง้าว โตมอญ และอื่นๆ ได้อีกด้วย