สมัยผมเป็นเด็กผมมักจะโดนคนอื่นแกล้งเพราะตัวเล็ก และผอมดูเป็นคนอ่อนแอ น่าแกล้ง ตอนนั้นด้วยว่ายังเป็นเด็กน้อย ก็ไม่รู้จะจัดการกับคนตัวโตกว่าหรือใจถึงกว่าที่มาแกล้งได้อย่างไร ก็ได้แต่ทน ผมอยากฝึกกีฬาเพราะหวังว่าร่างกายจะแข็งแรงพอจะต่อกรกับคนที่มาแกล้งเราได้บ้าง?
วัยเด็กของผม นอกจากเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้ว แม่ก็จะมาส่งผมเพื่อเรียนพิเศษภาษาจีนที่ด้านหน้าหอสมุด ซุน ยัด เซ็น (หอสมุดประชาชนหาดใหญ่) “ต๊ะรีบเข้าไปเลยลูก เสร็จแล้วรอหม่าม้ามารับตรงนี้นะ” ผมเข้าไปเรียนและออกมารอแม่มารับที่เดิม


เมื่อผมเรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย ผมได้รับคัดเลือกเป็นสารวัตรนักเรียนทำหน้าที่ช่วยอาจารย์ตรวจตราและรายงานความประพฤติของกลุ่มนักเรียนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหรือทำผิดกฎของโรงเรียน ทำให้ผมสุ่มเสี่ยงโดนเขม่นจากกลุ่มคนทำผิดเหล่านั้น ผมสังหรณ์ใจอยู่ว่าอาจจะโดนทำร้ายร่างกายเข้าสักวัน ซึ่งเพื่อนนักเรียนชายในชั้นเรียนต่างก็ออกปากว่าจะช่วย หากผมโดนทำร้าย เว้นแต่เพื่อนคนหนึ่งที่บอกผมว่าเขาคงไม่ช่วย เพราะเขาตัวเล็ก
และแล้ววันนั้นก็มาถึง ผมโดนรุมทำร้ายในโรงอาหารของโรงเรียนด้วยกลุ่มคนมากกว่า 20 คน บอกเลยว่าตัวผมกองอยู่กับพื้น ผมทำได้แค่เอามือทั้งสองกุมศีรษะที่เรียกว่าท่าสวมหมวกกันน็อคเพื่อไม่ให้สหบาทาที่กระหน่ำ ลงมาโดนจุดอันตราย เวลาเกิดเหตุแค่ไม่กี่นาที เหตุการณ์ครั้งนี้ผมเจ็บตัวไม่มากแต่เจ็บที่ใจมากกว่าเพราะเพื่อนที่เคยรับปากก่อนหน้านี้ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยผมเลย ตอนผมนอนอยู่บนพื้น ผมมองลอดแขนที่กุมศีรษะเห็นเพื่อนตัวเล็กซึ่งเป็นคนเดียวที่บอกว่าจะไม่ช่วย แต่เขากลับกระโดดขึ้นโต๊ะอาหารแล้วใช้ขาเตะอุตลุดไม่เป็นท่าไปยังกลุ่มคนที่เข้ามารุมทำร้ายผม “สินลำดวน” คือชื่อเพื่อนที่ผมจำขึ้นใจไม่มีวันลืมน้ำใจเขาเลย
บทเรียนจากเหตุการณ์นี้สอนให้ผมรู้ว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายอาจไม่มีใครช่วยเราเราต้องเอาตัวรอดเองให้ได้ และเป็นการจุดประกายให้ผมอยากฝึกศิลปะการต่อสู้เพื่อใช้ป้องกันตัวเอง ผมในช่วงเริ่มย่างเข้าสู่วัยรุ่น แม่มาส่งผมเพื่อไปเรียนพิเศษภาษาจีนเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมตัดสินใจไม่เดินเข้าไปในนั้น ผมยืนมองรถแม่ขับออกไป แล้วผมก็วิ่งสลับเดินมุ่งไปยังสนามกีฬาที่อยู่ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร เมื่อผมไปถึงสนามกีฬาจิระนคร ผมมองหาประเภทกีฬาที่ผมอาจสนใจ ผมสะดุดตากับป้ายติดอยู่เป็นอักษรแบบจีนสองตัว ตรงกลางจะเป็นธงชาติญี่ปุ่น และไทยติดคู่กัน ทางขวามือมีป้ายภาษาไทยเขียนว่า “ยูโด” เหนือธงชาติจะมีรูปของคนญี่ปุ่นท่านหนึ่งซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นผู้สถาปนาวิชา “ยูโด” คือท่านปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน่ ผมยืนดูเขาฝึกซ้อมกัน ในใจรู้สึกตื่นเต้นเบิกบาน วันนั้นผมตัดสินใจขอสมัครเข้าฝึกยูโดทันที
ผมแอบไปฝึกยูโดที่สนามกีฬากลางซึ่งต้องเดินไปถึง 2 กิโลเมตรและเดินกลับอีก 2 กิโลเมตร ให้ถึงหอสมุดซุน ยัด เซ็นก่อน 2 ทุ่มเพื่อยืนรอแม่มารับที่เดิม โดยที่แม่ไม่รู้เลยว่าผมไปฝึกยูโดมา ที่บอกว่าแอบเพราะแม่ของผมท่านไม่สนับสนุนให้ผมไปเรียนวิชาเหล่านี้ ท่านไม่อยากให้ผมไปมีเรื่องทะเลาะวิวาท อาจเพราะในวัยเด็กผมมักเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในละแวกบ้าน มีคนที่ชอบแกล้งคนอื่นแต่เวลาตัวเองโดนเอาคืนก็จะไปฟ้องพ่อแม่ หากวันไหนมีคนมาเอะอะโวยวายว่าผมทะเลาะมีการต่อยตีกันกับลูกเขา แม่จะตีผมด้วยไม้เรียวเพื่อให้เพื่อนบ้านที่มาโวยวายคนนั้นเห็นทันทีว่าแม่ผมลงโทษลูกและสอนลูกแล้ว แม่ไม่เคยถามว่าใครถูกใครผิด แต่ผมรู้ดีว่าแม่ตีผมเพื่อตัดปัญหาไม่ให้เพื่อนบ้านเคืองใจ เพราะแม่รู้และเชื่อว่าผมไม่เคยรังแกใครก่อน ทั้งยังเป็นเรื่องทะเลาะกันตามประสาเด็กๆ เพราะวันต่อมาพวกเราก็ดีกัน และกลับมาเล่นด้วยกันเหมือนเดิม
ผมนำเงินอั่งเปาที่ได้รับตอนตรุษจีนไปซื้อชุดยูโดที่ร้านขายอุปกรณ์กีฬา และหลังฝึกซ้อมก็จะเก็บชุดไว้ที่ห้องฝึกและส่งซักชุดฝึกที่ร้านซักรีดใกล้ๆสนามกีฬา ผมไม่เคยนำชุดฝึกยูโดกลับบ้านเลย
ผมไม่ใช่คนเกเรแค่ผมไม่สนุกกับการเรียนแต่หนังสือสิ่งที่ทำให้ผมมีชีวิตชีวาคือตอนฝึกทักษะทางด้านกีฬา (แม้ปัจจุบันพ่อแม่จะส่งเสริมลูกให้มีทักษะหลายอย่างแต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ค่านิยมพ่อแม่ส่วนใหญ่คาดหวังให้ลูกเรียนหนังสือเก่งมากกว่าทุ่มเทฝึกฝนทักษะด้านอื่นๆ) และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นผมเล่นฟิตเนสเพิ่มด้วยโดยที่แม่ทราบแต่ท่านก็ไม่ได้ห้ามอะไร ผมมีโอกาสฝึกเล่นกล้ามที่ฟิตเนสซึ่งเปิดแถวละแวกบ้าน พี่เจ้าของยิมแกเป็นนักกล้าม และสร้างอุปกรณ์การฝึกเองหลายอย่าง แกเลยเปิดยิมที่เป็นบ้านของแกเองให้คน ที่สนใจมาฝึกด้วยกันเลย โดยเก็บค่าฝึกเพียงเล็กน้อย ผมฝึกเล่นกล้ามได้ไม่นานเท่าไหร่ก็ถูกชักชวนให้ไปแข่งขันผมไปแข่งแบบอยากไปหาประสบการณ์เพราะส่วนตัวอยากฝึกไว้เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงและร่างกายดูกำยำมากกว่า
ครูฝึกยูโด คนแรกของผมเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูที่เพิ่งจบเอกพละศึกษามาจากสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา ซึ่งอายุห่างกับผมเพียง 7 ปี ผมจำชื่อแกไม่ได้เพราะไม่ค่อยได้คุยกัน แกมานำฝึกสอนในช่วงแรกไม่กี่วันแล้วก็ย้ายไป จึงไม่มีคนสอนยูโด พี่อ๊อดซึ่งเป็นผู้ฝึกสอนมวยสากลอยู่ตอนนั้นจึงเข้ามาสอนยูโดแทนให้ ผมจึงฝึกยูโดต่อกับพี่อ๊อด (ครูอ๊อด อัครินทร์) ที่มาสอนแทนครูคนเก่า พี่อ๊อดเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู ที่เพิ่งจบเอกพละศึกษามาจากสถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตยะลาเหมือนกัน
ผมฝึกพื้นฐานของยูโดคือ เริ่มจากทักษะการตบเบาะ (Ukime Waza) การนอนตบเบาะ ล้มตัวตบเบาะ ม้วนหน้าตบเบาะ พุ่งม้วนตบเบาะ การตบเบาะสลับซ้าย-ขวา การตบเบาะคือการฝึกการถ่ายแรงในการรับการทุ่มลงพื้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของยูโดที่ทุกคนต้องฝึก ซึ่งทักษะทางด้านยืดหยุ่นที่ผมมีมา ทำให้เรียนรู้พื้นฐานของยูโดได้รวดเร็ว ผมไปเรียนไม่กี่ครั้งก็สามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว
ศาสตร์ของยูโดยังมีอีกมากไม่ได้มีแต่ทักษะการตบเบาะหรือทักษะการทุ่ม แต่ยังมีทักษะการใช้ขาปัด ทักษะการขัดขา ทักษะการงัด ทักษะการใช้สะโพก ทักษะการตัดแรง ทักษะการต้านแรง ทักษะการยืมแรง และทักษะการนอนต่อสู้ (Ne Waza) โดยการบิดล็อก หรืออาศัยชุดยูโดรัดใน ส่วนต่างๆ ให้ยอมแพ้ ทักษะเหล่านั้นนำมาประยุกต์ได้ไม่รู้จบ ผมรู้สึกสนุกกับการฝึกยูโดมาก
Table of contents
การกำเนิดวิชา “ยูโด (Judo)”
หลังจากที่ญี่ปุ่น ได้ปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคเมจิทำให้วิชายิวยิตสูเสื่อมความนิยมลงจนหมด ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2403 ชาวญี่ปุ่นชื่อ จิกาโร่ คาโน่ ชาวเมืองชิโรโกะ ซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในกรุงโตเกียว เมื่อปี พ.ศ.2414 ขณะเมื่ออายุ 18 ปี ได้เข้าทำการศึกษาที่มหาวิทยาลัยโตเกียว ในสาขาปรัชญาศาสตร์ จนสำเร็จการศึกษา เมื่ออายุ 23 ปี ท่านจิกาโร่ คาโน่ เห็นว่าวิชายิวยิตสูนอกจากจะเป็นกีฬาสำหรับร่างกาย และจิตใจแล้วยังมีหลักปรัชญาที่ว่าด้วยหลักแห่งความเป็นจริง เมื่อท่านจิกาโร่ คาโน่ ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับวิชายิวยิตสูอย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่าผู้ฝึกวิชายิวยิตสูจนมีความชำนาญดีแล้วจะสามารถสู้กับคนที่รูปร่างใหญ่โตได้หรือสู้กับคนที่มีอาวุธด้วยมือเปล่าได้จากการค้นพบทำให้บังเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า ท่านจึงได้เข้าศึกษายิวยิตสูอย่างจริงจังจากอาจารย์ผู้สอนวิชายิวยิตสูหลายท่าน จากโรงเรียนเท็นจิ ชินโย และโรงเรียนคิโตะ ในปี พ.ศ.2425 ท่านจิกาโร่ คาโน่ อายุได้ 29 ปี ได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับวิชายูโดขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณวัดพุทธศาสนา ชื่อวัดเอโชะจิ โดยตั้งชื่อสถาบันนี้ว่า “โคโดกัง ยูโด” โดยได้นำเอาศิลปะของการต่อสู้ด้วยการทุ่มจากสำนักเทนจิ ซิโย และการต่อสู้จากสำนักคิโตเข้ามาผสมผสานเป็นวิชายูโด และได้ปรับปรุงวิธีการยูโดให้เหมาะสม สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในระบอบการปกครอง และสังคมในขณะนั้น ได้สอดแทรกวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ คณิตศาสตร์ประยุกต์ที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จิตศาสตร์และจริยศาสตร์เข้าด้วยกัน โดยได้ตัดทอนยิวยิตสู ซึ่งไม่เหมาะสมออก แล้วพยายามรวบรวมวิชายิวยิตสูให้เป็นหมวดหมู่มีมาตรฐานเดียวกันตามความคิดของท่าน และได้ตั้งระบบใหม่เรียกว่า “ยูโด (Judo)”
ในยุคแรก ท่านจิกาโร่ คาโน่ ต้องต่อสู้กับบุคคลหลายๆ ฝ่ายเพื่อให้เกิดการยอมรับในวิชายูโด โดยเฉพาะจากบุคคลที่นิยมอารยธรรมตะวันตก บุคคลพวกนี้ไม่ยอมรับว่ายูโดดีกว่ายิวยิตสู จนในปี พ.ศ.2429 กรมตำรวจญี่ปุ่นได้จัดการแข่งขันระหว่างยูโดกับยิวยิตสูขึ้น โดยแบ่งเป็นฝ่ายละ 15 คน ผลการแข่งขันปรากฏว่ายูโดชนะ 13 คน เสมอ 2 คน เมื่อผลปรากฏเช่นนี้ ทำให้ประชาชนเริ่มสนใจยูโดมากขึ้น ทำให้สถานที่สอนเดิมคับแคบจึงต้องมีการขยายห้องเรียนเพื่อต้อนรับผู้ที่สนใจจนถึงปี พ.ศ.2476 จึงได้ย้ายสถานที่ฝึกไปที่ ซูอิโดบาชิ (Suidobashi) และสถานที่นี้ในที่สุดก็เป็นศูนย์กลางของนักยูโดของโลกในปัจจุบัน
ในปี พ.ศ.2455 ได้ก่อตั้งสหพันธ์ยูโดระหว่างประเทศขึ้น โดยมีประเทศต่างๆ ที่ร่วมก่อตั้งครั้งแรกประมาณ 20 ประเทศและได้มีการตั้ง The Kodokun Cultural Society ในปี พ.ศ.2465 ขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2499 สหพันธ์ ยูโดระหว่างชาติได้จัดให้มีการแข่งขันเพื่อความชนะเลิศยูโดระหว่างชาติขึ้นโดยอยู่ในการอำนวยการของสหพันธ์ยูโด ระหว่างประเทศ โคโดกังและหนังสือพิมพ์อาซาอิซัมบุน ปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน่ พบว่าวิชายิวยิตสูแบบดั้งเดิมนั้นไม่สามารถที่จะฝึกอย่างเต็มกำลังได้เนื่องเพราะว่าเทคนิคอันตรายต่างๆ เช่นการจิ้มตา การเตะหว่างขา การดึงผม และอื่นๆ อาจทำให้คู่ฝึกซ้อมบาดเจ็บสาหัสจากการฝึกได้ รวมทั้งการฝึกที่เรียกว่า กะตะ (การฝึกแบบเข้าคู่โดยทั้งสองฝ่ายรู้กันและฝึกตามท่าโดยที่ไม่มีการขัดขืนกัน) แต่เพียงอย่างเดียวก็ยังไม่ได้ประสิทธิภาพที่เพียงพอ เพราะเราจะไม่สามารถคาดหวังได้ว่าศัตรูของเราจะให้ความร่วมมือในท่าที่เราฝึกมาโดยที่ไม่มีการขัดขืน ท่านจึงปรับปรุงการฝึกส่วนใหญ่ในโรงเรียนของท่านให้เป็นแบบ รันโดริ (RANDORI) คือการฝึกซ้อมแบบจริง โดยใช้แนวความคิดว่า นักเรียนสองคนใช้ เทคนิค ต่างๆ ที่ตนเรียนรู้เพื่อการเอาชนะอย่างเต็มกำลังทั้งนี้นักเรียนจะคุ้นเคยกับความรู้สึกต่อต้านขัดขืนจากคู่ต่อสู้ การฝึกแบบนี้นักเรียนจะสามารถพัฒนา ร่างกายจิตใจและความคล่องตัวได้ดีกว่า เพื่อทำให้การ ฝึกซ้อมแบบ รันโดริมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านจิกาโร่ คาโน่ จำเป็นต้องเอา เทคนิค รุนแรงที่ก่อให้เกิดอันตรายบางส่วนเช่น การชก เตะ หัวโขก ในยูวยิตสูออกไป การล็อกสามารถกระทำได้เพียงแค่ข้อศอก ซึ่งปลอดภัยกว่าการล็อกสันหลัง คอ ข้อมือ หรือหัวไหล่ เขาเรียกการฝึกซ้อมแบบนี้ว่า “ยูโด”
ยูโดในปัจจุบันเป็นกีฬาสากลประเภทบุคคล มีหลักการและวัตถุประสงค์ คือมุ่งบริหารร่างกาย และจิตใจให้มีประสิทธิภาพสูงสุดโดยใช้แรงให้น้อยที่สุด เพื่อสวัสดิภาพและประโยชน์สุขร่วมกัน การฝึกยูโดต้องมีการฝึกการต่อสู้และป้องกันตัว ก็เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกได้ออกแรง ซึ่งเป็นหนทางก่อให้เกิดสมรรถภาพทางกายตามอุดมคติของท่านจิกาโร่ คาโน่ ผู้ให้กำเนิดกีฬาประเภทนี้ว่า “Maximum Efficiency with minimum Effort and Mutual Welfare and Benefit” คือยูโดใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนตามหรือที่เรียกว่า “ทางแห่งความสุภาพ” “Gentleness or soft way” ทำให้ได้เปรียบแก่ผู้ที่มีกำลังมากกว่าเป็นวิธีการที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าน้ำหนักน้อยกว่า และกำลังด้อยกว่า สามารถต่อสู้กับผู้ที่อยู่ในลักษณะเหนือกว่าได้

เทคนิคของวิชายูโดแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
1. นาเงวาซา (Nagewaza)
เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการทุ่ม มีท่าทุ่มที่เป็นพื้นฐานอยู่ 12 ท่า และแยกออกเป็นประเภทตามส่วนของร่างกายที่ใช้ทุ่มนั้นๆ ซึ่งได้แก่การทุ่มด้วยมือ การทุ่มด้วยสะโพก การปัดขา การทุ่มด้วยไหล่ การทุ่มด้วยสีข้างและหลัง
2. กะตะเมวาซา (Katamawaza)
เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกอดรัดเพื่อให้หายใจไม่ออก การจับยึดและการล็อกข้อต่อ เป็นเทคนิคที่ใช้ขณะอยู่กับพื้นเบาะ (tatami) เพื่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน กะตะเมะวาซายังสามารถแยกย่อยออกได้อีก 3 ประเภท คือ
- โอไซโคมิวาซา (Osaekomiwaza) ซึ่งเป็นเทคนิคเกี่ยวกับการกดล็อกบนพื้น
- ชิเมวาซา (Shimewaza) ซึ่งเป็นเทคนิคการรัดคอหรือหลอดลม
- คันเซทสึวาซา (Kansetsuwaza) ที่เป็นเทคนิคในการหักล็อกข้อต่อให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน
3. อาเตมิวาซา (Atemiwaza)
เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการชกต่อย ทุบตี ถีบถอง ส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เกิดการบาดเจ็บ พิการหรือถึงแก่ชีวิตซึ่งวิธีการเหล่านี้จะใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวเท่านั้นและไม่เคยจัดการแข่งขัน
ตอนที่ผมฝึกยูโดที่โดโจ (โรงฝึก) ของสนามกีฬากลางหาดใหญ่ในตอนนั้น มีแต่คนคาดสายคาดเอวสีขาวทุกคน แม้แต่ครูที่ควบคุมดูแลชมรมที่ฝึกมานานก็ยังคาดสายคาดเอวสีขาว เพราะต้องเป็นสมาชิกสมาคมยูโดแห่งประเทศไทย และขึ้นไปสอบที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอประมาณ เลยไม่ค่อยมีใครสนใจจะสอบเลื่อนวิทยฐานะเพื่อที่จะเอาสายสีน้ำตาล หรือดำสักเท่าไรทุกคนเล่นเป็นกีฬาสนุกๆ เสียส่วนใหญ่
ผมมาทราบทีหลังว่ายูโด มีการสอบเลื่อนระดับเหมือนการเรียนการสอนวิชาการ แต่การสอบเลื่อนระดับนั้นจะวัดที่พื้นฐาน ความถูกต้องสมบูรณ์ของท่าประสิทธิผลและความสัมฤทธิ์ผลของท่า ความขยันหมั่นเพียรในการมาซ้อม ซึ่งในสมัยนั้นจะมีการสอบสายที่สมาคมยูโดแห่งประเทศไทยที่เดียว ถ้าสอบผ่านก็จะได้สายคาดเอวเป็นสีน้ำตาลแสดงวิทยฐานะว่ามีทักษะมากพอสมควรถ้าสอบผ่านอีกครั้งจะได้สายดำ (Shodan) ซึ่งถือเป็นขั้นที่หนึ่งในระดับสิบขั้น ซึ่งขั้นที่สิบที่นับได้ว่าสูงสุดของยูโด มีคนน้อยมากที่จะสอบได้ในระดับน้ี ปัจจุบันยูโดจะมีการสอบเลื่อนสาย โดยมีสายขาวสำหรับผู้ฝึกใหม่ทุกคนสายเขียว สายฟ้า สายน้ำตาล สายดำ และสายแดง ซึ่งปัจจุบันนี้ทางสมาพันธ์ยูโดแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ถวายสายแดงแก่องค์สมเด็จพระจักรพรรดิและยกเลิกสายนี้ไปแล้ว
ยูโด แปลว่าวิถีแห่งความอ่อนนุ่มโดยใช้หลักคานงัด คานเหวี่ยง การออกแรง การยืมแรง การตามแรง เป็นพื้นฐานและปรัชญาของวิชา แม้ผมจะสามารถทุ่มคู่ต่อสู้ด้วยท่าต่างๆ ได้ในตอนฝึกยูโดนั้น แต่ผมเพิ่งมาเข้าใจหลักการออกแรง ยืมแรง ตามแรง ก็เมื่อได้เรียนไท่เก๊กอย่างจริงๆ จังๆ ในอีกหลายปีต่อมา
เย็นวันหนึ่งขณะผมเลิกฝึกซ้อมยูโด ก่อนจะกลับบ้าน ผมและเพื่อนๆ ก็มานั่งคุยเล่นอยู่บริเวณด้านหน้าใกล้ห้องฝึกซ้อม มีเด็กกลุ่มหนึ่งมายืนอยู่บริเวณนั้นด้วย เป็นกลุ่มเด็กที่มารอฝึกมวยสากล ซึ่งเพิ่งเปิดรับสมัครได้ไม่นานซึ่งสอนโดยพี่อ๊อดและฝึกต่อจากชั่วโมงของยูโด “ยูโดสู้มวยสากลไม่ได้หรอก เข้ามายังไม่ทันได้ทุ่มก็โดนหมัดซะก่อน” มีเสียงพูดดังขึ้นในกลุ่มเด็กเหล่านั้น “ลองเล่นดูก็ได้” ผมพูดตอบกลับไปแล้วลุกขึ้นเดินออกมาแสดงตัว เราทั้งคู่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ผมไม่ได้รู้สึกโกรธที่เขาพูดแบบนั้น ผมเองอยากรู้ว่าทักษะยูโดที่ผมฝึกมาระยะหนึ่งแล้ว ผมจะนำมาใช้กับทักษะมวยอื่นได้แบบไหน “เมื่อยืนประจัญหน้ากันพร้อมแล้ว ผมก้าวเดินพุ่งตรงพร้อมยื่นมือออกไปจะเข้าท่าทุ่มตามความเคยชิน แต่จังหวะที่มือกำลังจะจับถึงตัว หมัดของอีกฝ่ายก็ต่อยสวนมาโดนเหนือเบ้าตาขวาผมอย่างจัง ในใจผมคิดว่าเอาว่ะไหนๆ ก็โดนต่อยแล้วแม้จะโดนต่อยแต่ผมไม่ชะงักจังหวะ เมื่อมือผมถึงตัวคู่ต่อสู้ผมรีบเข้าประชิดพร้อมใช้แขนอ้อมโอบต้นคอด้านหลังล็อกคอทิ้งตัวเอาหลังโล้ลงเข้าท่าทุ่มทันทีสำหรับคนที่ไม่ได้เรียนล้มตัวมาโดนทุ่มหลังฟาดทีเดียวก็คงเจ็บ ผมเองปวดแถวเบ้าตาที่โดนหมัด อีกคนเจ็บจุกเพราะโดนทุ่ม เอาเป็นว่าได้ทดสอบและเจ็บกันพอเป็นพิธี วัยรุ่นจึงหายคาใจกันไป” ช่วงนั้นผมเริ่มโตขึ้นและเริ่มสูงแต่ยังดูผอมอยู่ ผมขอแม่ขี่จักรยาน BMX เพื่อไปเรียนภาษาจีนและกลับเอง ทำให้มีเวลามากขึ้น ผมตัดสินใจจะฝึกมวยสากลควบคู่กับฝึกยูโดไปด้วย โดยมีพี่อ๊อดเป็นครูสอนทั้งสองอย่าง เส้นทางฝึกยุทธเพิ่งเริ่มต้น วันแรกที่ผมตั้งใจจะไปฝึกมวยสากลต่อจากชั่วโมงยูโด ผมพบกับชัยคนที่ต่อยผมแล้วผมจับทุ่มในวันนั้น วันนี้ชัยมาฝึกยูโดวันแรกเช่นกัน และมีเราแค่สองคนที่ฝึกทั้งยูโดและมวยสากล ผมไม่เคยถามเหตุผลชัยแต่ผมบอกตัวเองว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” แน่นอน